น่าน – รมว.สาธารณสุข เปิดตัว “Health Rider” เดลิเวอรี่ยาถึงบ้าน หนุนนโยบายนายกฯ “เศรษฐา” 30 บาท รักษาทุกที่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดตัว  “Health Rider” อย่างเป็นทางการ รับวัน อสม.แห่งชาติ ปี 2567 หนุนนโยบายรัฐบาลนายกฯ “เศรษฐา” โครงการ “30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ยกระดับ ปรับระบบสุขภาพเพื่อประชาชน ด้วยบริการจัดส่งยาถึงบ้าน ลดแออัด ลดรอคอย พร้อมให้คำแนะนำผ่านระบบเภสัชกรรมทางไกล ควบคู่การเสริมรายได้ให้ อสม. และบุคลากรสาธารณสุข ล่าสุดมี Health Rider ครอบคลุม 32 จังหวัด จัดส่งยาแล้วกว่า 4 หมื่นออเดอร์ ผู้ป่วยพึงพอใจเรื่องความรวดเร็ว-ลดรอคอยยา สูงถึงกว่าร้อยละ 99    ด้าน สสส. หนุนเสริมสร้างความปลอดภัย ‘Health Rider’ สวมหมวกกันน็อก 100%  เพื่อให้การส่งยาถึงผู้ป่วยปลอดภัยทั้งผู้ส่งและผู้รับ

วันนี้ 18 มีนาคม 2567   ที่สนามกีฬาโรงเรียนปัว อ.ปัว จ.น่าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงาน “เชิดชูเกียรติ อสม. จาก อสม.คุณภาพ สู่ Health Rider” มอบเกียรติบัตรและเสื้อสามารถให้กับ อสม.ดีเด่นระดับจังหวัด/ระดับเขตสุขภาพที่ 1, 2, 3 /ระดับภาคเหนือ และระดับชาติ รวม 11 สาขา และมอบชุด Rider ให้กับ Health Rider 15 อำเภอ โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายเทวา ปัญญาบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ อสม. และจิตอาสาในพื้นที่ เข้าร่วมงานกว่า 2,600 คน  และในโอกาสนี้  รมว.สาธารณสุข ได้ทดลอง “Health Rider” ขี่รถจักรยานยนต์  นำยาส่งให้ผู้ป่วยถึงบ้านด้วย

โดย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า “อสม.ไรเดอร์” หรือ “Health Rider” บริการส่งยาให้ผู้ป่วยที่บ้าน เป็นนวัตกรรมหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการ “ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” โดยจะเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วจัดส่งยาและเวชภัณฑ์จำเป็นให้กับผู้ป่วยถึงบ้านฟรี โดยเฉพาะผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ช่วยอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้ป่วยและญาติ ไม่ต้องเดินทางมารับยาถึงโรงพยาบาล รวมทั้งเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สะดวกไปรับยาที่โรงพยาบาลหรือไปรับที่ร้านยา ซึ่งจะต้องได้รับการประเมินแล้วว่าสามารถรับยาที่บ้านได้ โดยจะให้บริการระบบเภสัชกรรมทางไกล (Telephamacy) ควบคู่ไปด้วย เพื่อยืนยันการรับยาและแนะนำวิธีการรับประทานยาให้กับผู้ป่วย ทำให้ช่วยลดความแออัด ลดการรอคอย ลดความเสี่ยงการติดเชื้อที่โรงพยาบาล และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารับยาได้

รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า บริการ Health Rider ยังเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กับ อสม. และบุคลากรโรงพยาบาลได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมา หลายจังหวัดได้นำร่องบริการนี้บ้างแล้ว อาทิ จังหวัดน่าน ดำเนินการแล้ว 14 โรงพยาบาล มี อสม.และบุคลากรร่วมเป็น Health Rider 78 คน ให้บริการในระยะทางไม่เกิน 15 กิโลเมตรจากโรงพยาบาล ตั้งแต่ ธันวาคม 2566-14 มีนาคม 2567 จัดส่งยาไปแล้ว 2,976 ออเดอร์  ช่วยลดความแออัดหน้าหัองยาลงได้ ร้อยละ 14 ต่อวัน ภาพรวมทั่วประเทศ ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 14 มีนาคม 2567 มีหน่วยบริการเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว 184 แห่ง ใน 32 จังหวัด อสม. และบุคลากรสาธารณสุข เข้าร่วมโครงการฯ 1,414 คน จัดส่งยารวม 44,174 ออร์เดอร์ ผลสำรวจพบผู้ป่วยพึงพอใจเรื่องความรวดเร็วในการส่งยา ร้อยละ 99.2 ช่วยลดระยะเวลาในการรอคอยยา ร้อยละ 99.5 โดย อสม. และบุคลากรของโรงพยาบาลต้องขึ้นทะเบียน Provider ID ก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ขณะที่ระบบการส่งยาจะมีบริษัทขนส่งภาคเอกชนเข้ามาร่วม อาทิ นินจา, Global Jet Express, GRAB, ไปรษณีย์ไทย, Robinhood, LINE MAN, SCG Logistic, Kerry และ Dowel

 

ขณะที่ทางด้าน นางเบญจมาภรณ์  ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. พร้อมสนับสนุนโครงการ “Health Rider” จัดส่งยาผู้ป่วยถึงบ้าน ยานพาหนะที่ใช้ส่วนใหญ่คือรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ข้อมูลบูรณาการของกรมควบคุมโรคปี 2566 พบว่า ผู้เสียชีวิตจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ทั่วประเทศสูงถึง 53,533 ราย คิดเป็น 81.03% ของผู้เสียชีวิตทางถนนทั้งหมด อุบัติเหตุมักเกิดในถนนสายรอง เพราะมีจุดเสี่ยงอันตรายจำนวนมาก โดยมีจุดเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 66 จุดทั่วประเทศ เป็นจุดเสี่ยงบนถนนสายรอง 22 จุด ทางแยก 20 จุด สายหลัก 19 จุด ทางโค้ง 4 จุด ไม่มีสัญญาณไฟส่องสว่าง 1 จุด สสส. พร้อมสนับสนุนมาตรการด้านความปลอดภัยให้ผู้ขับขี่ เช่น ก่อนออกไปส่งยา อสม. ทุกคนจะต้องสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง ดื่มไม่ขับ ไม่ขับเร็ว เพื่อให้การส่งยาถึงผู้ป่วยปลอดภัยทั้งผู้ส่งและผู้รับ ปัจจุบัน สสส. มีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 189 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 35 อำเภอ 20 จังหวัด ทำงานร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ นำแนวทางขับขี่ปลอดภัยสู่การปฏิบัติแบบมีส่วนร่วม สร้าง “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน เสริมศักยภาพกลไกระดับตำบล และอำเภอ ลดอุบัติเหตุ ลดบาดเจ็บ ลดความพิการ และลดการเสียชีวิต

Related posts