“เขื่อนไซยะบุรี” เร่งพร่องน้ำทิ้ง เตือน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงเอ่อล้นท่วมฉับพลัน

เตือน 8 จังหวัด พื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ติดตามสถานการณ์ และเฝ้าระวังระดับน้ำขึ้นสูง จนถึงวันที่ 1 ก.ย. 67 หลัง “เขื่อนไซยะบุรี” ปล่อยน้ำ 1.7 หมื่น ลบ.ม./วินาที

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2567 มีรายงานว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ประกาศเตือน 8 จังหวัด พื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ติดตามสถานการณ์น้ำ และเฝ้าระวังระดับน้ำขึ้นสูงจนถึงวันที่ 1 กันยายน 2567 หลัง “เขื่อนไชยะบุรี” ได้ปล่อยน้ำ 1.7 หมื่น ลบ.ม./วินาที ได้แก่ จ.เชียงราย จ.เลย จ.หนองคาย จ.มุกดาหาร จ.อุบลราชธานี จ.อำนาจเจริญ และจังหวัดบึงกาฬ

ล่าสุด วันที่ 31 ส.ค. เวลา 07.00 น. มีรายงานว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดบึงกาฬ เช้าวันนี้วัดได้ 12.52 เมตร ลดลงจากวานนี้ 8 เซนติเมตร ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี หลังวานนี้ระดับน้ำโขงในพื้นที่จังหวัดเลย และหนองคาย ลดลงตามลำดับ แต่น้ำยังคงท่วมพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลหอคำ และตำบลไคสี อำเภอเมืองบึงกาฬ เช่นที่บริเวณแก่งอาฮง หรือหนองอาฮง และหนองเมือก น้ำจำนวนมากเอ่อล้นไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะนาข้าว และสวนยางพารา ชาวบ้านต้องเร่งขนย้ายสัตว์เลี้ยงไปไว้ในพื้นที่สูง

ขณะที่ นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ลงพื้นที่บริเวณลานพญานาค ริมแม่น้ำโขง ต.ปากคาด อ.ปากคาด เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง ที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง อาจจะเพิ่มแต่ก็ไม่มาก ซึ่งก่อนหน้านี้จากการแจ้งเตือนว่าน้ำโขงจะสูงขึ้น 1-2 เมตร แต่จากวันนี้มวลน้ำเมื่อมาถึงจังหวัดบึงกาฬมีระดับลดลง ซึ่งจังหวัดก็ยังคงเฝ้าระวังอยู่ในทุกพื้นที่ ทุกหน่วยงานเตรียมมาตรการรองรับน้ำไว้อยู่แล้ว ถ้าเกิดมีสถานการณ์คับขันขึ้นมาเราสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที

ส่วนพื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วม จังหวัดได้ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปท. ท้องที่ ท้องถิ่น รวมถึงเกษตรอำเภอ เกษตรตำบล ออกไปเก็บข้อมูลถ่ายรูปไว้ก่อน เพื่อเป็นหลักฐานหลังน้ำลด ก็จะมีการสำรวจความเสียหาย หากเกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้ตามหลักเกณฑ์ ก็สามารถจ่ายชดเชยเยียวยาให้กับเกษตรกรทันที ซึ่ง ณ ตอนนี้คาดการณ์ว่ามีพื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 23,000 ไร่.

Related posts