นครราชสีมา-พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จัดพิธีบวงสรวงพระเจ้าชัยวรมัน ที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายของราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อโบราณ
นายศิวะเสก สินโทรัมย์ นายอำเภอพิมาย พร้อมด้วย นางเบญจวรรณ พลประเสริฐ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ และพนักงาน-เจ้าหน้าที่ ได้ร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวงพระเจ้าชัยวรมัน ที่ 7 องค์จำลองที่ตั้งประดิษฐานไว้ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย เพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อโบราณ โดยมีนายกร ทัพพะรังสี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการหลายกระทรวง รวมทั้ง นายนิกร โสมกลาง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา พรรคเพื่อไทย มาร่วมบวงสรวงด้วย ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
ทั้งนี้กรมศิลปากร ได้มอบหมายให้สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ดำเนินการปรับปรุง พัฒนา และเพิ่มศักยภาพพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ทั้งด้านข้อมูลการจัดนิทรรศการ เทคนิค และรูปแบบการนำเสนอ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นมา รวมทั้ง ปรับโฉมหุ่นจำลองพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และจัดแสดงโบราณวัตถุ ประติมากรรมชิ้นเด่นที่เป็นไฮไลต์ ทั้งทับหลังจากปราสาทพิมาย , ประติมากรรมพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และและประติมากรรมรูปสตรี ที่สันนิษฐานว่า เป็นพระนางศรีชัยราชเทวี มเหสีองค์แรกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นต้น
จากข้อมูลในหนังสือ “ชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายของอาณาจักรกัมพูชา” ได้ระบุไว้ว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นกษัตริย์มหาราชองค์สุดท้ายของเขมร แต่ยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ชัดว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สวรรคตเมื่อใด แต่จากการสันนิษฐานโดยอ้างหลักฐานการครองราชย์ของพระองค์ในปี พ.ศ. 1744 เมื่อทรงส่งคณะทูตยังราชสำนักจีน คาดว่าราวปี พ.ศ. 1762 ทรงมีพระชนมายุ 90 พรรษา และเชื่อว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นผู้สร้างปราสาทหินพิมายในสมัยนั้น ซึ่งมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์โบราณปรากฏให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบัน ทั้งโบราณสถาน ปราสาทหินพิมาย และโบราณวัตถุ ประติมากรรมรูปเหมือนพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ถูกค้นพบในปรางค์พรหมทัต ปราสาทหินพิมาย ซึ่งปัจจุบันถูกเก็บรักษาและจัดแสดงที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นกษัตริย์ผู้ทรงสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์มหิธรปุระ ในรัชสมัยของพระองค์ เมืองพิมาย มีนามว่า ‘วิมายปุระ’ เป็นเมืองสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งและเจริญรุ่งเรืองมากในขณะนั้น เมื่อสิ้นสุดรัชสมัยของพระองค์ อิทธิพลทางการเมืองของอาณาจักรเขมรโบราณเริ่มเสื่อมลง เป็นผลให้อาณาจักรอยุธยาขยายอำนาจเข้าสู่บ้านเมืองในบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน โดยพบหลักฐานรูปเคารพสมัยอยุธยาที่ได้รับการนำเข้าไปประดิษฐานภายในปราสาทเขมรโบราณ เช่น ปราสาทพนมวัน ปราสาทพิมาย รวมถึง การพบโบราณสถานสมัยอยุธยาในเมืองพิมาย เช่น อุโบสถวัดเจ้าพิมาย และเมรุพรหมทัต ซึ่งจากความเคารพศรัทธาที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน ประชาชนในพื้นที่จึงจัดงานบวงสรวงพระเจ้าชัยวรมัน ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อความเป็นสิริมงคล และเชื่อว่า จะนำความสงบสุข สมัครสมานสามัคคีมาสู้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ .
โดย…ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา