โฆษกรัฐบาล ยันราคายางในปี 2567 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังกลางเดือนมี.ค.ขึ้นทะลุ 90 บาทต่อกก. และอาจจะไต่ระดับขึ้นสู่ทะลุเลข 3 หลัก ตามที่ รมว.เกษตรฯ คาดหวังโดยที่รัฐบาลไม่ต้องแทรกแซงราคาตลาดยางพารา กยท.ลั่นมั่นใจจะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล ที่มองถึงอนาคตจะสดใส ราคามีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ราคายางพาราที่พุ่งสูงขึ้นนี้ เป็นผลจากมาตรการปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อนอย่างเข้มงวดจริงจังของรัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บูรณาการร่วมทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ ทหาร และตำรวจ ทำให้ไม่มียางนอกระบบหรือยางเถื่อนเข้ามาในประเทศ ผู้ใช้ยางจะต้องซื้อยางในระบบเท่านั้น ซึ่งมีจำนวนที่จำกัด ในขณะที่ความต้องการมีเพิ่มขึ้นทำให้ราคายางพุ่งสูงขึ้นตามกลไกการตลาด หากนำมาวิเคราะห์เป็นตัวเงินแล้ว ราคายางที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว สามารถทำรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มขึ้นรวมกันมากกว่าวันละ 210 ล้านบาท และถ้าตลอดทั้งปียางมีราคาอยู่ในระดับ 72 บาทขึ้นไป รายได้ของชาวสวนยางทั้งประเทศก็จะเพิ่มขึ้นรวมกันมากกว่าปีละ 76,650 ล้านบาทอย่างแน่นอน ปัจจุบันราคายางได้ทะลุ 80 บาทต่อกิโลกรัมไปแล้ว รายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง มีรายได้รวมกันมากกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีรายได้ที่มั่นคง
ในขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง ได้แสดงความดีใจที่ราคายางเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมการทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กองทัพบก กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กรมศุลกากร และผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ที่ปราบปรามและป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำเข้ายางเถื่อน จนทำให้ยางมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีของไทยยังได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียว่า ไม่จำเป็นต้องนำเข้ายางจากพม่าหรือลาวผ่านประเทศไทย เพราะไม่แน่ชัดว่าจะไปถึงมาเลเซียจริงหรือไม่ สินค้าอาจจจะถูกกระจายในประเทศไทย หากมาเลเซียมีความต้องการใช้ยางสูง สามารถติดต่อโดยตรงกับรัฐบาลไทย ซึ่งไทยพร้อมส่งยางให้ได้ทั้งหมด
อย่างไรก็ตามเฉพาะการปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อนนั้น ไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ทำให้ราคายางเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น ปริมาณความต้องการใช้ยางทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมรถยนต์ ยอดการผลิตรถยนต์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ไฟฟ้าขยายตัวมากกว่า 10% ทำให้ความต้องการใช้ยางในการผลิตยางล้อรถยนต์เพิ่มขึ้นตามมาด้วย ในขณะที่สต๊อกยางโลกเริ่มลดลง และปริมาณยางใหม่ที่ออกสู่ตลาดมีจำนวนจำกัด นอกจากนี้นโยบายเกี่ยวกับยางของรัฐบาลก็เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนทำให้ยางมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน
ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) คนใหม่ ได้เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย 7 ด้านภายใต้แนวคิด “อยู่ได้ พอใจ ยั่งยืน” ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย 1.สร้างปัจจัยการผลิตแบรนด์ “การยาง” เพื่อลดต้นทุนด้านปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง โดยจะผลักดันให้ กยท.ทำปุ๋ยและเคมีภัณฑ์เกี่ยวกับการทำสวนยางที่ได้มาตรฐานภายใต้แบรนด์ “การยาง” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและสร้างรายได้ให้กับองค์กร จำหน่ายในราคาถูก 2.ติดอาวุธทางความรู้และเครื่องมือในการประกอบอาชีพให้เกษตรกรชาวสวนยาง โดยจะส่งเสริมถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีศักยภาพและเหมาะสมสำหรับเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
3.บริหารจัดการโรคใบร่วงอย่างจริงจัง โดยบูรณาการร่วมกับภาคเอกชน ค้นคว้างานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาโรคใบร่วงอย่างเป็นระบบ 4.ออก “โฉนดไม้ยาง” ทุกพื้นที่ทั่วไทย โดย กยท.จะเร่งทำการขึ้นทะเบียนต้นยาง เพื่อออกโฉนดไม้ยาง พร้อมทั้งปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางให้เป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการอย่างเป็นเอกภาพ 5.สร้างตลาดยางมาตรฐานเดียวกันทุกท้องถิ่นทั่วไทย เพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมาย EU ที่จะมีผลบังคับใช้ใน ธ.ค. 67 นโยบายในเรื่องนี้ของรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นกรณีพิเศษ โดยสั่งการให้ กยท.กำหนดเป็นนโยบายที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน เพื่อที่จะเพิ่มโอกาสในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถขยายตลาดยางพาราในสภาพยุโรปได้มากขึ้น เหนือกว่าประเทศคู่แข่ง และทำให้ราคายางเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ
6.ผลิตยางล้อแบรนด์ “การยาง” และผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ จากยางพารา เป็นอีกนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะเป็นการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ โดยขณะนี้ กยท.ได้เจรจากับผู้ผลิตยางรายใหญ่ของไทยและต่างประเทศ ที่จะผลิตล้อยาง สำหรับรถยนต์ประเภทต่างๆ ภายใต้ยี่ห้อ “การยาง”
นอกจากยางล้อรถยนต์แล้ว กยท. ยังผลิตหมวกยางพารานิรภัย รองเท้าบู๊ทยางพารา และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพาราอื่นๆ รัฐบาลได้มุ่งเน้นที่จะสร้างเสถียรภาพให้กับยางพาราด้วยการเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ นอกจากการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ยังได้เร่งขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ
7.ส่งเสริมสนับสนุนสถาบันเกษตรกรในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ ที่มีศักยภาพสามารถต่อยอดได้ เน้นการทำตลาดแบบจริงจัง พร้อมส่งเสริมให้ราคายางของ กยท. เป็นราคากลางของตลาดยางอย่างมีเสถียรภาพ และมีสิทธิไต่ระดับทะลุ 100 บาทต่อกิโลกรัม