วุฒิสภา จับมือ สสส.-ภาคี Kick off “หมวกกันน็อก…สมองไม่น็อก #ความดีที่คุณทำได้ พร้อมเปิดตัวแคมเปญ “#Save สมอง…สวมหมวกกันน็อก สมองไม่น็อก”

คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายจัดงานเสวนา “Kick off “หมวกกันน็อก…สมองไม่น็อก #ความดีที่คุณทำได้” โดยมี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภามาเป็นประธาน ที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซ.งามดูพลี กรุงเทพฯ


นายสุรชัย กล่าวว่า วุฒิสภา ให้ความสำคัญ และดำเนินงานความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เห็นความเปลี่ยนแปลงในหลายด้านที่ดีขึ้นแต่ยังเห็นรายงานการเกิดอุบัติเหตุทางถนนอยู่ อาทิ รถรับส่งนักเรียน ทางม้าลาย การชนท้ายรถบรรทุก และสำคัญที่เห็นกันบ่อยคือ อุบัติเหตุที่เกิดกับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ที่ถือเป็นกลุ่มเปราะบางในการใช้รถใช้ถนน จึงร่วมกับ สสส. ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนจัดกิจกรรมเน้นเรื่องการสวมหมวกนิรภัย ทุกครั้งที่ต้องขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย แต่จากข้อมูลที่ผ่านมา ไทยยังสวมหมวกค่อนข้างน้อยทั้งที่เป็นอุปกรณ์สำคัญในการป้องกันตนเอง อยากชวนให้ผู้ขับขี่ทุกคนได้สวมหมวกนิรภัยป้องกันชีวิต และป้องกันสมองของตนเอง “หมวกกันน็อก…สมองไม่น็อก #ความดีที่คุณทำได้

“ขอชวนหน่วยงาน องค์กร สถานศึกษาทุกระดับทั้ง มหาวิทยาลัย มัธยมศึกษา ประถมศึกษา จนไปถึงระดับปฐมวัย ที่ต้องมีมาตรการดูแลความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน รณรงค์ส่งเสริมให้พื้นที่สถานศึกษา เป็นพื้นที่สวมหมวกนิรภัย และที่สำคัญคือการมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนเพื่อสร้างความรอบรู้ด้านความปลอดภัยทางถนน และเสริมสร้างให้น้องๆเยาวชน ได้สวมหมวกนิรภัยให้ติดเป็นวินัยในตนเอง” นายสุรชัย กล่าว

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนสะสมของไทย ข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค. 2566 จำนวน 22,361,257 คัน เป็นยานพาหนะกลุ่มใหญ่ที่สุด 70% ของอุบัติเหตุ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เป็นกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เช่นกัน และมีการบาดเจ็บที่ศีรษะสูง ซึ่งสัมพันธ์กับการไม่สวมหมวกนิรภัย สสส.ได้สำรวจการสวมหมวกนิรภัยโดยมูลนิธิไทยโรดส์ (ThaiRoads) พบว่า อัตราการสวมหมวกโดยเฉลี่ย 10 ปี (2553-2562) อยู่ที่ 44% หากแยกเฉพาะผู้ขับขี่สวม 52% ส่วนคนซ้อนท้ายสวม 21% ถือเป็นอัตราที่ยังไม่มาก กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อ 1.กระตุ้นเตือน เชิญชวน ให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ สวมหมวกนิรภัยทุกครั้งขณะขับขี่ เพื่อป้องกัน และลดความรุนแรงต่อการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ 72% ลดความเสี่ยงเสียชีวิตได้ถึง 39% 2. สานพลังกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนให้เกิดการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มมากขึ้น ลดการบาดเจ็บ และเสียชีวิตในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ลง

ทั้งนี้ สสส. ได้เตรียมเปิดตัวหนังโฆษณาเรื่องใหม่ ภายใต้แคมเปญ “#Save สมอง…สวมหมวกกันน็อก สมองไม่น็อก” เพื่อสื่อสารให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์สวมหมวกนิรภัยมากขึ้น ลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ ทำให้ผู้ขับขี่ตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมา เมื่อสวมหมวกนิรภัย กระตุ้นผู้ขับขี่ให้เห็นข้อดี และอยากใช้มากขึ้น โดยมีหนัง TVC 2 เรื่อง และหนังออนไลน์ 1 เรื่อง 1.เรื่อง ทุกทิศทุกทาง เล่าเรื่อง หากไม่สวมหมวกนิรภัยสมองที่ส่งผลเสีย เพราะการชน 1 ครั้ง สมองกระทบกระเทือนซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง 2. จุดอันตราย คนเรารู้เส้นทาง รู้ทุกจุดที่อันตราย แต่กลับมองข้ามจุดอันตรายที่แท้จริงอยู่ที่สมอง เพราะว่าการน็อกแค่ 1 ครั้ง สมองอาจไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีก 3. Online Video เรื่อง ไม่มีหน้า การเกิดอุบัติเหตุโดยไม่สวมอุปกรณ์ป้องกัน อาจกระทบกระเทือนถึงความทรงจำ จนทำให้จดจำคนที่คุณรักไม่ได้ ซึ่งการขับเคลื่อน และการรณรงค์เพื่อให้เกิดความปลอดภัย กับผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างยั่งยืน

ด้าน นายวิทยา จันทน์เสนะ ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน หรือ ศปถ. มีแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2564-2579 เป็นแผนบูรณาการสำคัญร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงให้ได้ ไม่เกิน 12 คนต่อประชากรแสนคน ที่ประชุม ศปถ. เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2565 คณะกรรมการ ศปถ. มีมติเห็นชอบให้มี “การรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100%” ทั่วประเทศ ศปถ.จังหวัด ได้ดำเนินการแนวทางสำคัญดังนี้

1.กำหนดมาตรการองค์กร ที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยให้ทุกส่วนราชการ สถานศึกษา สถานพยาบาล หน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานประกอบการ และนิคมอุตสาหกรรม เป็นพื้นที่สวมหมวกนิรภัย 100 % 2.รณรงค์เน้นให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงาน ผู้นำองค์กร และผู้นำชุมชน ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีตามกฎจราจร สวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่มีการขับขี่รถจักรยานยนต์ และ 3. รณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกช่องทางในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน

Related posts