“อลงกรณ์”รวมพลคนประมงพื้นบ้านกว่า100,000คน

“อลงกรณ์”รวมพลคนประมงพื้นบ้านกว่า100,000คนจัดตั้งองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น 2,776 องค์กรใน50จังหวัดตั้งงบสนับสนุนปีละ200องค์กร
พร้อมเปิดตัวหมู่บ้านประมงท่องเที่ยวอีก 53 แห่ง เร่งพัฒนาอาชีพแปรรูปผลิตภัณฑ์ออกมาตรฐานประมงพื้นบ้านยั่งยืนสร้างแบรนด์ขยายตลาด Fisheries Shopเพิ่มรายได้ชาวประมงภายใต้นโยบายส่งเสริมพัฒนาประมงพื้นบ้านของรัฐมนตรีเกษตรฯ.”เฉลิมชัย ศรีอ่อน”

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงชชเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทยเปิดเผยวันนี้(18 ก.ย.)ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทยครั้งที่4 ว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการ โดยคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพื้นบ้าน รายงานผลการขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นแล้วจำนวนทั้งสิ้น 2,776 องค์กร สมาชิกจำนวน 104,891 ราย และความคืบหน้าโครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมง องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ องค์กรชุมชนประมงด้านชายฝั่ง 80 ชุมชน ด้านน้ำจืด 84 ชุมชน ด้านแปรรูป 36 ชุมชน และได้อนุมัติโครงการและกิจกรรมตามความต้องการของชุมชน เพื่อพัฒนาอาชีพประมง จำนวน 200 องค์กรเรียบร้อยแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 20 ล้านบาทและจะสนับสนุนงบประมาณทุกปีๆละอย่างน้อย200 องค์กรๆละ100,000บาท

“ภายใต้นโยบายสร้างความเข้มแข็งชุมชนและองค์กรเกษตรกรโดยเฉพาะประมงพื้นบ้านซึ่งเป็นชาวประมงรายย่อยของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย กรมประมงโดยนายเฉลิมชัย สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมประมงได้บูรณาการทำงานเชิงรุกกับทุกภาคส่วนร่วมมือกันเร่งดำเนินการพัฒนาชุมชนและหมู่บ้านประมงพื้นบ้านเพื่อเพิ่มรายได้ด้วยโครงการใหม่ๆโดยจัดตั้งองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นทั้งประมงน้ำจืดและน้ำเค็มให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนและต่อยอดสร้างรายได้เพิ่มจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยว”

นายอลงกรณ์ยังเปิดเผยต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาผลิตผลผลิตภัณฑ์ประมงและการพาณิชย์ ที่ได้ถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการด้านสุขลักษณะที่ดีในการแปรรูปสัตว์น้ำ มีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์และน้ำอุปโภคบริโภคมาตรวจคุณภาพ รวมทั้งถ่ายทอดเทคนิคการแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม ในองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น จำนวน 25 แห่ง จาก 18 จังหวัด ซึ่งอยู่ในภาคต่าง ๆ ได้แก่ภาคใต้ จำนวน 6 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 8 แห่ง ภาคเหนือ จำนวน 3 แห่ง ภาคตะวันออกจำนวน 2 แห่ง และภาคกลาง จำนวน 6 แห่ง และการออกหนังสือรับรองมาตรฐานการทำการประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนและการแปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้าน พร้อมกับการพัฒนาแบรนด์โดยให้การรับรองมาตรฐานการทำการประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนให้แก่ชาวประมงพื้นบ้าน จำนวน 128 ราย และการรับรองสินค้าประมงที่จำหน่ายบนเว็ปไซต์ Fisheries Shop ของกรมประมง
สำหรับการพัฒนาหมู่บ้านประมงเป็นแหล่งท่องเที่ยวภายใต้โครงการฟิชเชอร์แมนวิลเลจรีสอร์ต ( Fisherman’s Village Resort )

มีความคืบหน้าโดยกรมประมงได้ส่งเสริมชุมชนประมงชายฝั่งที่มีศักยภาพ 22 จังหวัด สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ 53 แห่ง โดยมอบหมายให้กรมประมงขยายความร่วมมือกับทุกภาคีภาคส่วนพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชนประมงด้วย โดยนำแนวทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ(wellness tourism)มาประยุกต์ใช้ และให้ส่งเสริมการตลาดแบบออนไลน์(Online Market)เพื่อช่วยสนับสนุนการขายและการประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับหมู่บ้านประมงทางด้านการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งด้วย
ในการประชุมคณะกรรมการ ฯ ครั้งที่ 4/2565 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ zoom cloud meeting มี นายอรุณชัย พุทธเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกรมเจ้าท่า ผู้แทนองค์การสะพานปลา ผู้แทนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้แทนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และผู้แทนภาคเอกชน สมาคมการประมง และผู้แทนเครือข่ายเกษตรกรชาวประมง เข้าร่วมประชุม และ นายพัฒนพงศ์ ชูแสง ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรา กรมประมง เป็นฝ่ายเลขานุการการประชุม

Related posts