กทม.เปิดศูนย์พักคอยอีก 15 แห่ง 1,591 เตียง รับผู้ป่วยโควิดพุ่ง

กทม.เปิดศูนย์พักคอยอีก 15 แห่ง 1,591 เตียง รับผู้ป่วยโควิดพุ่ง ยันปัจจุบันมีเตียงเพียงพอ ไร้เคสฉุกเฉินรอส่งต่อ ไม่มีผู้เสียชีวิตที่บ้านรายใหม่

เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2565 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร วันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่ใน กทม. จำนวน 3,019 ราย เสียชีวิต 19 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม จำนวน 47,838 ราย โดยพบการแพร่ระบาดในแคมป์ก่อสร้างและสถานประกอบการ

ภาพรวมการให้บริการวัคซีนวานนี้ (10 ก.พ. 65) มีผู้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 4,435 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 2,519 โดส เข็มที่ 3 จำนวน 41,749 โดส และเข็มที่ 4 จำนวน 5,727 โดส สำหรับจำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสม ในพื้นที่ กทม. หน่วยฉีดทุกสังกัด ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 64 – 9 ก.พ. 65 เข็มที่ 1 สะสม 9,435,725 คน คิดเป็นร้อยละ 119 เข็มที่ 2 สะสม 8,746,433 คน เข็มที่ 3 สะสม 3,992,893 คน และเข็มที่ 4 สะสม 424,284 คน คิดเป็นร้อยละ 5.35 จากจำนวนเป้าหมาย 7,929,189 คน

สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแบบกักตัวที่บ้าน (HI) ในวันนี้มีจำนวน 1,261 ราย สะสม 28,520 ราย อยู่ระหว่างการรักษา จำนวน 8,404 ราย จำหน่ายสะสม 20,116 ราย ในภาพรวมมีผู้ป่วยที่เข้าสู่การแยกกัก รักษาที่บ้าน ลดลงเล็กน้อย ไม่มีผู้ป่วยสถานะเร่งด่วนรอส่งต่อ และไม่มีผู้เสียชีวิตที่บ้านรายใหม่

ในส่วนของศูนย์พักคอย (CI) มีจำนวน 27 แห่ง จำนวนเตียง 3,411 เตียง ในวันนี้มีผู้ครองเตียง จำนวน 856 ราย คงเหลือ 2,555 เตียง และไม่มีผู้เสียชีวิตในการรักษาแบบ CI สำหรับโรงพยาบาลสนาม มีจํานวน 7 แห่ง รองรับได้ 1,418 เตียง มีผู้ครองเตียง จำนวน 779 ราย คงเหลือ 639 เตียง ซึ่งจากสถานการณ์ปัจจุบันยังมีเตียงที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอ โดยมีศูนย์พักคอยที่พร้อมเปิดให้บริการเพิ่ม จำนวน 15 แห่ง รองรับได้ 1,591 เตียง

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพฯ สามารถเข้าสู่ระบบการรักษา โทร.สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 สายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 กด 2 หรือสายด่วนโควิด (EOC) 50 เขต ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับการประเมินอาการ และเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็วที่สุด

Related posts