น่าน – อพท. เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ โฮงเจ้าฟองคำ ตอน “ล่องน่าน Songs Story” ชวนฟังดนตรีในสวน ชมการแสดงนาฏศิลป์น่านสร้างสรรค์ ท่ามกลางบรรยากาศเรือนไม้เก่า เล่าเรื่องเมืองน่าน
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 ร่วมกับเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน กองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน จัดกิจกรรมพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) เพื่อสนับสนุนการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ตอน “ล่องน่าน Songs Story” ณ โฮงเจ้าฟองคำ ถนนสุมนเทวราช ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ระหว่างวันที่ 5 – 6 กุมภาพันธ์ 2565 โดยสร้างสรรค์พื้นที่ สำหรับศิลปินด้านดนตรีและการแสดง เพื่อเล่าเรื่องเมืองน่านผ่านบทเพลงพื้นบ้านร่วมสมัย ในบรรยากาศสวนเล็กหน้าเรือนโฮงเจ้าฟองคำ ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี
นายณัฐกิตต์ กุมพะยาน เจ้าหน้าที่พัฒนาพื้นที่พิเศษ ฝ่ายปฏิบัติการ สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 อพท. เล่าว่า ศิลปะพื้นบ้านที่สำคัญและเป็นอัตลักษณ์ของน่าน อีกสิ่งหนึ่ง คือ เครื่องดนตรีล้านนา สะล้อ ซอ ปิน และ บทเพลงขับซอ โดยจังหวัดน่าน มีเพลงซอล่องน่าน ซึ่งมีท่วงทำนองที่ไพเราะ มีความเป็นอัตลักษณ์ของน่าน ในอดีตเป็นการขับซอเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการย้ายเมืองน่าน จากเมืองปัว ล่องตามแม่น้ำน่าน แล้วมาสร้างเมืองใหม่ที่เวียงภูเพียงแช่แห้ง ปัจจุบัน เพลงทำนองซอล่องน่าน ยังเป็นที่นิยม และมีการนำมาทำดนตรีร่วมสมัยด้วย
ซึ่งจังหวัดน่าน มีบุคคลสำคัญด้านดนตรีพื้นบ้านและการขับซอ คือ พ่อครูไชยลังกา เครือแสน ช่างซอจังหวัดน่าน ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) ประจำปี พ.ศ. 2530 และ พ่อครูคำผาย นุปิง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-ขับซอ) ประจำปี พ.ศ. 2538 ปัจจุบันมีคณะช่างซอ ช่างฟ้อน กระจายตัวอยู่ในอำเภอต่างๆ รวมถึงศิลปินเพลงสากลและเพลงสตริง ได้นำทำนองเพลงซอล่องน่าน มาสร้างสรรค์บทเพลงอีกมากมาย
โดยศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนในการพัฒนาและสร้างสรรค์พื้นที่ รูปแบบฟังดนตรีในสวน ชมการแสดงนาฏศิลป์น่านสร้างสรรค์ ท่ามกลางบรรยากาศเรือนไม้เก่าแก่ ชมการประกวดวงดนตรีซอสตริงน่านสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการยกระดับดนตรีพื้นบ้าน ผสมผสานกับดนตรีสากลอย่างร่วมสมัย มีร้านค้าจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม อาหารพื้นเมือง งานหัตถกรรม และงานศิลปะจากช่างท้องถิ่น กว่า 25 ร้าน ในสไตล์ล้านนาแบบชิลๆ เน้นรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่นำมาใช้ภายในงาน จะเป็นวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้
มีกิจกรรมน่าสนใจมากมาย ทั้งร้านค้าจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม อาหารพื้นเมือง งานหัตถกรรม และ “กาดหมั้วครัวละอ่อน” ที่มีอาหารโบราณหาทานยาก เช่น ขนมวงไทลื้อ เมี่ยงคำผลไม้ ข้าวแคบ ข้าวเหนียวมูนผลไม้ เป็นต้น กิจกรรมเรียนรู้ลองดูคราฟท์ เป็นกิจกรรมร่วมเรียนรู้และได้ทดลองทำกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ งานเวิร์คชอปที่ได้ลงมือฝึกปฏิบัติงานศิลปะและหัตถกรรมพื้นบ้าน
โดยกิจกรรมครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5- 6 กุมภาพันธ์ 2565 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 18.00 น. ณ โฮงเจ้าฟองคำ ถนนสุมนเทวราช ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ซึ่งการจัดงานยังคงเน้นและให้ความสำคัญกับมาตรการ new normal และ การใช้มาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดเพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของสถานการณ์โรคโควิด19 ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมสามารถติดตามและสอบถามรายละเอียดได้ที่ Facebook Page: อพท.สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 และ Facebook Page : น่าน บันดาลใจ