นราธิวาส-รร.สาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มรย.เปิดตัวสู่การเป็นต้นแบบการเรียนรู้สันติศึกษาแก่นักเรียนชั้นอนุบาล
ที่บริเวณโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา(มรย.) อ.เมือง จ.ยะลา โรงเรียนสาธิต มรย.ได้จัดกิจกรรมการสานเสวนาเปิดตัวโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สู่การเป็นต้นแบบการเรียนรู้สันติศึกษาระดับปฐมวัยภายใต้โครงการวิจัยความร่วมมือระหว่างสถาบันสันติศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร่วมกับคณะครุศาสตร์และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เรื่องการพัฒนาต้นแบบนโยบายการศึกษาบนฐานกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะเชิงสันติภาพที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.จิรภรณ์ มั่นเศรษฐวิทย์ อ.ประจำคณะครุศาสตร์ มรย.ในฐานะนักวิจัย รศ.ดร.ศิษฏ์ธวัช มั่นเศรษฐวิทย์ อ.ประจำคณะวิทยาการจัดการ ผศ.ดร.มูหัมมัดตอลาล แกมะ ผอ.รร.สาธิต มรย. ผศ.ดร.กฤษฎา กุณฑล อ.ประจำคณะครุศาสตร์ ร่วมการเสวนา โดยมีนายอัมรัน แมหะ นักสื่อสารมวลชนชำนาญการ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ยะลา เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ผศ.ดร.จิรภรณ์ มั่นเศรษฐวิทย์ อ.ประจำคณะครุศาสตร์ มรย. ในฐานะนักวิจัย กล่าวว่า การพัฒนางานวิจัยดังกล่าวได้ให้ความสำคัญและปักหมุดไปที่เด็กระดับปฐมวัย เพราะมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกคนจะต้องมาให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะในด้านสมรรถนะเชิงสันติภาพที่จะมีหลักสูตรสันติศึกษาเกิดขึ้นครั้งแรกบนฐานการวิจัยในครั้งนี้ มีสื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้ที่จะนำเด็กไปสูความเข้าใจในความแตกต่างหลายหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งได้หนดไว้ 5 ด้าน 18 ตัวบ่งชี้ ประกอบด้วยสันติภาพในการดำรงตนคือการยอมรับอัตลักษณ์วิถีของตนเอง 2.สมรรถนะด้านสันติภาพในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย 3.สันติภาพในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.สันติภาพในวิถีชีวิตใหม่และ 5.ใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งทั้งหมดนี้ได้บรรจุลงในหน่วยการเรียนรู้ให้กับโรงเรียนสาธิต มรย.เป็นที่เรียบร้อยเพื่อให้ครูได้ต่อยอดและเป็นนักสร้างสันติภาพอย่างแท้จริง
ทางด้าน ผศ.ดร.มูหัมมัดตอลาล แกมะ ผอ.รร.สาธิต มรย. กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของโรงเรียนสาธิต มรย.ที่ถือเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่จะมีผลต่อชุมชนเป็นอย่างมาก ซึ่งหลักสูตรในแต่ละหลักสูตรนั้น สามารถกำหนดผู้เรียนได้ เช่น เราต้องการให้ผู้เรียนเป็นอย่างไรให้ไปดูที่หลักสูตร และหลักสูตรเชิงสันติภาพดังกล่าวก็ได้ถูกนำมาใช้ในโรงเรียนสาธิต มรย.เป็นแห่งแรกดังนั้น ตนมองว่าการปลูกเมล็ดพันธุ์ที่ดีนั้นเราต้องเริ่มสร้างตั้งแต่ระดับเด็กหรือปฐมวัยเล็กผ่านหน่วยการเรียนรู้ที่ได้กำหนด ให้เด็กได้รู้จักตัวตน รู้จักเพื่อน และรู้จักสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อเขาได้รู้จักเขาจะมีความรักความหวงแหนและจะนำไปสู่การไม่ทำลาย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางโรงเรียนจะได้ขยับงานวิจัยนี้ขึ้นไปสู่ในระดับชั้นอื่นๆต่อไปในอนาคต
ในขณะที่นางโรสนียา ดือราเสะ ผู้ปกครอง กล่าวว่า เริ่มต้นบทเรียนลูกสามารถเรียนรู้ในความเป็นตัวตนเขาเริ่มมีความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง มีการรู้จักครอบครัว รู้จักสังคมและอยู่ในสังคมอย่างไรให้มีความสุข ซึ่งนอกจากผลงานที่เด็กๆได้สร้างสรรค์ที่มาจากการจินตนาการของตนเองแล้วเขายังสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างต่อเนื่อง
แวดาโอ๊ะ หะไร ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดนราธิวาส