โฆษก ทร. เผย พบคราบน้ำมันกระจายตัวในทะเล 4 จุด ใกล้เรือบรรทุกน้ำมัน 5 แสนลิตร ที่อับปางกลางอ่าวไทย เร่งควบคุมให้อยู่ในวงจำกัด พร้อมส่งยานสำรวจใต้ดำ ค้นหาตำแหน่งเรือจม
เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 25 ม.ค.2565 พลเรือโท ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์ เรือบรรทุกน้ำมันดีเซล ชื่อ ป. อันดามัน 2 ซึ่งจอดทอดสมอและอับปางลง บริเวณห่างจากปากน้ำชุมพรประมาณ 24 ไมล์ทะเล เมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่ผ่านมา
ภายในเรือ มีน้ำมันอยู่ประมาณ 5 แสน ลิตร ซึ่งในวันนี้ ซึ่งนับเป็นระยะเวลากว่า 40 ชั่วโมง ที่เรือลำดังกล่าวที่จมลง ศูนย์ปฏิบัติกองทัพเรือ โดย ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 1 ได้ส่ง อากาศยานเข้าทำการสำรวจบริเวณโดยรอบพื้นที่ พบว่ามีคราบน้ำมัน กระจายเป็นวงกว้างรอบพื้นที่เรือจม มีสีรุ้ง และ มีกลิ่นแรง อีกทั้งยังคงเห็นการรั่วไหลขึ้นมาเรื่อยๆ และมีทิศทางขึ้นไปทางเหนือ เคลื่อนที่อย่างช้าๆ จากจุดที่เรือจมขนานไปกับชายฝั่ง ห่างจากชายฝั่ง 15 ไมล์ทะเล มีความกว้างโดยประมาณ 200 หลา และจากการส่งเรือหลวงบางระจัน เข้าพื้นที่
โดยใช้ Sonar ค้นหาตำแหน่งเรือจม ที่ระดับความลึก 46 เมตร พบว่าลักษณะการจม เรือวางตัว ในแนวตะวันออก ตะวันตก หัวเรือเอียงจากพื้น ประมาณ 20 องศา จากนั้นได้ส่งยานสำรวจใต้น้ำ Seafox I (Inspection Vehicle) และ นักประดาน้ำ ลงสำรวจ ในตำแหน่งเรือจม โดยใช้เรือวีนัสเป็นฐานการดำ โดยในส่วนบนผิวน้ำ ได้ทำการทดลองฉีดน้ำแรงดันสูง เพื่อเร่งกระบวนการแตกสลายของน้ำมันดีเซลที่รั่วไหลโดยใช้เรือหลวงบางระจันและหลวงสงขลาดำเนินการ
โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า น้ำมันที่รั่วไหลออกมา มีการกระจายตัว แตกตัว เข้าสู่กระบวนการระเหย โดยจากภาพจะเห็นการจับตัวกับแพลงก์ตอน ไดโนแฟลกเจลเลต หรือ Noctiluca ซึ่งเป็นแพลงก์ตอนชนิดหนึ่งจาก 32 ชนิด เป็นสัตว์เซลล์เดียว มีสาเหตุการเกิดได้หลายปัจจัย เช่น มีฝนตกหนัก คลื่นลมแรงทำให้มีปริมาณธาตุอาหาร(Nutrient)เพิ่มมากขึ้นและมีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของแพลงก์ตอน โดยหากมีกาเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น จะทำให้เกิดภาวะ น้ำมีออกซิเจนน้อย(Hypoxia)ในชั้นน้ำ นำไปสู่สาเหตุน้ำไม่มีออกซิเจนและทำให้สัตว์น้ำตายได้
โฆษกกองทัพเรือ กล่าวต่อไปว่า ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดและจะรายงานผลการปฏิบัติให้ทราบอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งยืนยันว่า กองทัพเรือ มีความพร้อมทั้งยุทโธปกรณ์และกำลังพลในการรับมือต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยยานสำรวจใต้น้ำ ที่ประจำอยู่บนเรือหลวงบางระจันซึ่งถือเป็น ยุทโธปกรณ์ที่ ใช้ในการปฏิบัติการด้าน การล่าทำลายทุ่นระเบิด ก็สามารถนำมาปรับใช้กับ ภารกิจในการสำรวจและค้นหาเรือที่ ที่ประสบเหตุในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นขอให้พี่น้องประชาชน เชื่อมั่นได้ว่า การจัดหายุทโธปกรณ์ต่างๆของกองทัพเรือนั้น กองทัพเรือภายใต้การนำของ พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ตระหนักดีว่า งบประมาณที่เราได้รับเป็นภาษีของประชาชน ในการพิจารณาดำเนินการเรื่องใดๆ จะดำเนินการตามเหตุผลความเป็นจริงที่สามารถอธิบายได้ โดยจะยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ