ปราจีนบุรี – รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เยี่ยมฟาร์มเกษตรกร “มาตรการเพิ่มกำลังผลิตสุกรขุนเพื่อแก้ปัญหาเนื้อสุกรราคาสูง ” ขณะเนื้อหมูในพื้นที่ราคาแพงหูดับ รับผลกระทบถ้วนหน้า
เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ 5 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ปราจีนบุรีรายงานว่า ได้รับแจ้งจากกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมปศุสัตว์ ที่ฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ของ จ.ปราจีนบุรี “ลิ้มไพบูลย์ฟาร์ม” หมู่ 1 ตำบลบางเดชะ อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี
นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ เยี่ยมฟาร์มเกษตรกรในพื้นที่ตาม “มาตรการเพิ่มกำลังผลิตสุกรขุนเพื่อแก้ปัญหาเนื้อสุกรราคาสูง ”
นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ กล่าวว่า “ การลงพื้นที่เยี่ยมฟาร์มผู้ผลิตสุกรขุน เพื่อมาฟังภาคผู้เลี้ยง ขอความเห็น –พูดคุย ร่วมร่วมมือและความเห็นร่วมกัน ในปัญหาราคาเนื้อสุกรที่สูง เมื่อมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ผ่อนคลาย ผู้บริโภค มีความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น หากร่วมกับปัจจัยที่มีปริมาณการเลี้ยงลดลง
อีกสาเหตุที่ทำให้ปริมาณหมูในปี 2564 ลดลงจากปี 2563 จากที่ผลิตได้ปีละ 20 ล้านตัวเหลือ 19 ล้านตัว โดยส่งออก 1 ล้านตัว คงเหลือบริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว จึงทำให้ราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับการยกระดับมาตรฐานฟาร์มของเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาดจะส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) ซึ่งค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาตรฐานฟาร์ม GAP เพื่อไม่ให้ต้นทุนการเลี้ยงสูง
ซึ่งมั่นใจว่า มาตรการสนับสนุนต่างๆ จะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงใหม่ และเพิ่มปริมาณการผลิตหมูให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค
ซึ่งจะขอความร่วมมือผู้เลี้ยงรายกลางและรายใหญ่ให้ผลิตลูกหมูให้รายย่อยและรายเล็กกระจายลูกหมูไปเลี้ยง ขอความร่วมมือการผลิตในราคาไม่สูงนัก ทั้งยังมีการสนับสนุนการเลี้ยงโดยจะมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ให้กู้ยืมจาก ธ.ก.ส.วงเงินกว่า3หมื่นล้าน ในโครงการสานฝันสร้างอาชีพอีกด้วย
และในช่วงตรุษจีน จะได้เรียนต่อนายกรัฐมนตรี ชะลอการส่งออกสุกรมีชีวิตชั่วคราวในการบรรเทาปัญหาราคาในประเทศก่อน โดยไทยมียอดส่งออกสุกร จำนวน 980,000ตัว จะช่วยเบาบางปัญหาได้
ด้าน นายภวพรรธน์ ปฐมโพธิวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายผลิต ลิ้มไพบูลย์ฟาร์ม (สะพานหิน) กล่าวว่า “ “ลิ้มไพบูลย์ฟาร์ม” เป็นฟาร์มขนาดกลาง มีการจัดการฟาร์มที่ดี เป็นระบบปิด มีมาตรการระบบป้องกันทางชีวภาพ มีสุกรประมาณ 2,500 แม่ จำหน่ายสุกรขุน ลูกสุกร มีโรงผสมอาหารเอง มีโรงฆ่าสุกรมาตรฐาน GMP มี Shop ขายเนื้อสุกรเองอีกด้วย ที่ผ่านมาลูกสุกรที่จำหน่ายแก่ผู้เลี้ยงก่อนหน้านั้นเป็นลูกสุกร 6เดือน ราคา 60บาท/ตัว ราคาจำหน่ายปัจจุบันสูงเพิ่มกว่า 96 บาท /ตัว รัฐฯสามารถช่วยเหลือแก่ผู้เลี้ยงได้ อาทิ การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การสนับสนุนการวิจัยการปลอดเชื้อโรคในสุกรและปล่อยกลไกการตลาดให้เป็นตามระบบ ที่จะทำให้เกษตรกรอยากเลี้ยงต่อไป
ต่อมาเวลา 17.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้ลงพื้นที่ สำรวจราคาหมู ที่ตลาดท่าประชุม อำเภอศรีมหาโพธิ มีเขียงหมู พ่อค้า – แม่ค้าอยู่ ประมาณ 4 เขียงหมู
พบว่า ราคา หมูได้ขยับราสูงขึ้น เป็นลำดับทุกๆวัน ราคาวันละประมาณกิโลกรัมละ 8 บาท 20 บาท ถึง 50 บาทต่อวันที่ขยับขึ้น ๆ โดยเฉพาะ เนื้อหมูสามชั้น
จากที่ผ่านๆมา จากเคยขายราคาที่ 160 บาท จนมาถึง ณ ตอนนี้ ขยับขึ้นไปถึง 230 บาทแล้ว ส่วนจะเป็นเนื้อ สันนอกสันใน ส่วนเนื้อติดมัน หรือว่าเป็นส่วนที่เนื้อล้วน ก็ขยับตามราคาขึ้นไป
ทางพ่อค้าแม่ค้า เริ่มบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า จากเดิมที่เคยขายได้ วันละปริมาณมาก แต่ทุกวัน นี้ ขายได้ปริมาณลดลง อย่างเห็นได้ชัดทุกวัน จากคนที่เคยมาซื้อวันละ 10 กิโลฯ เพื่อไปจำหน่าย ก็ลดเหลือลงมาครึ่งหนึ่ง
ส่วนที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าที่ไปทำข้าวแกงไปทำอาหาร สำเร็จ เพื่อมาจำหน่าย ก็ มีปริมาณเนื้อหมูที่ให้ลดลงเยอะ ส่วนมากจะหันไปใช้วัตถุดิบอย่างอื่น เพิ่งจะเปลี่ยนเป็นเนื้อไก่ ส่วนหมูก็จะลดน้อยลง แต่ ณ ขณะนี้ เนื้อไก่ก็เริ่มจะขยับขึ้นมาอีกแล้ว ทำให้ พ่อค้าแม่ค้าที่นำไปปรุงอาหารสำเร็จรูป ไม่ว่าจะเป็นไปทำหมูแดดเดียว หรือว่าไปทำประกอบอาหาร ต่างก็ลดปริมาณในการซื้อลง ไม่ว่าจะเป็น ทางพ่อค้าแม่ค้าเขียงหมู หรือว่า พ่อค้าแม่ค้า พี่ทำกับข้าวสำเร็จรูปมาขาย ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากจะฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือผู้มีอำนาจ อยากให้ ไม่ว่าจะเป็นหมูหรือไก่ อย่าไข้คุมราคาให้ได้ ถ้าไม่อย่างนั้น ก็จะพากันเดือดร้อน กันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้จำหน่ายหรือผู้บริโภค จึงอยากจะฝากไว้เพียงเท่านี้
มานิตย์ สนับบุญ-ข่าว /นิรุธ รักษาพล -ภาพ/