บทความทางกฎหมาย โดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
เรื่อง “ ยกฟ้อง ฝรั่งเตะหมอ เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวภาค 2 ”
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 หนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ต่างลงข่าว
“ ศาลยกฟ้อง คดีฝรั่งเตะหมอ”
คมชัดลึกออนไลน์ : 3 ก.ย. 2567 ที่ศาลแขวงภูเก็ต ศาลนัดพิพากษาคดี พนักงานอัยการคดีศาลแขวง โจทก์ และ แพทย์หญิงธ.หรือ หมอปาย เป็นโจทก์ และโจทก์ร่วม ยื่นฟ้องนาย ด. ชาวสวิตเซอร์แลนด์ เจ้าของปางช้างภูเก็ต ในคดีทำร้ายร่างกาย กรณีเตะเข้าที่หลังหมอปาย พร้อมตะโกนด่าถ้อยคำหยาบคาย ขณะนั่งที่บันไดหน้าวิลล่าหรู ชายหาดยามู ต.ป้าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 24ก.พ.2567 ที่ผ่านมา
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลได้มีคำสั่งให้ “รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน” โดย
สำนวนคดีแรก “ พนักงานอัยการคดีศาลแขวงภูเก็ต” เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยว่า
จำเลยได้ใช้กำลังทำร้ายร่างกาย นางสาว ธ. ผู้เสียหาย โดยการเตะบริเวณหลังหนึ่งครั้งเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ เป็นแผลฟกช้ำบริเวณหลังส่วนบน โดย ไม่ถึงกับ เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ( ทำร้ายไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งมีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท)
สำนวนที่สอง นางสาว ธ. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยว่า
การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเหตุให้ นางสาว ธ. มีอาการทางจิตประสาทโศกเศร้าเสียใจซึ่งเป็นอาการทางจิตเวชโดยแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรค PTSD ( โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ) ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ( ทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งมีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท )
ศาลให้เรียก “พนักงานอัยการคดีศาลแขวงภูเก็ต” ว่า “โจทก์ที่ 1”และ เรียกนางสาวธารดาวฯ ว่า “โจทก์ที่ 2” คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า “จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ? ”
เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำเบิกความ และ คำให้การชั้นสอบสวนของโจทก์ที่ 2 ประกอบกับคลิปวิดีโอตามวัตถุพยาน ปรากฏว่า “ มีความแตกต่างและไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ ” เนื่องจากตามคลิปวิดีโอปรากฏภาพ โจทก์ที่ 2 หันหน้ามาทางข้างขวาและเหลียวหลังมองไปทิศทางที่จำเลยกำลังเดินตรงมาที่โจทก์ที่ 2 จึงเชื่อว่า หากจำเลยเตะโจทก์ที่ 2 จริง โจทก์ที่ 2 และนางสาว ศ. ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยกันย่อมน่าจะเห็นเหตุการณ์ และ ยืนยันได้หนักแน่นว่า จำเลยเตะทำร้ายร่างกายโจทก์ที่ 2 โดยมีลักษณะและรายละเอียดการเตะอย่างไรกันแน่เนื่องจากบริเวณที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากหลอดไฟในสวน จากดวงจันทร์เต็มดวงเพียงพอที่พยานโจทก์จะมองเห็นและจดจำเหตุการณ์ได้
แต่โจทก์ที่ 2 กลับไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงถึงการถูกทำร้ายร่างกายนั้นได้ อันเป็นข้อพิรุธให้น่าสงสัย
นอกจากนี้ ตามคลิปวิดีโอวัตถุพยานก็ ไม่ปรากฏภาพเหตุการณ์ที่แสดงถึงจำเลยใช้เท้าเตะโจทก์ที่ 2 จนมีลักษณะคะมำไปด้านหน้าดังที่โจทก์ที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวน
แต่กลับปรากฏภาพโจทก์ที่ 2 สามารถลุกขึ้นยืนและเดินออกไปจากที่เกิดเหตุได้อย่างปกติ อันขัดแย้งกับคำให้การของโจทก์ที่ 2 ทั้งไม่สมเหตุสมผลเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบรูปร่างของจำเลยที่เป็นคนสูงใหญ่กว่าโจทก์ที่ 2 มาก ประกอบกับโจทก์ที่ 2 กับจำเลยไม่เคยรู้จักกัน หรือมีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน พฤติการณ์แห่งคดี ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 และจำเลยมีปากเสียงทะเลาะวิวาทกันก่อน และปกติบุคคลทั่วไป เมื่อถูกทำร้ายร่างกายโดยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกัน ย่อมต้องสอบถามมูลเหตุที่ทำร้ายตน แต่ทางนำสืบของโจทก์กลับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวในชั้นพิจารณา
นอกจากนี้ พยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวนยังเบิกความอีกว่า “ ตำแหน่งที่โจทก์ที่ 2 นั่งบน บันไดขั้นที่สองนับจากด้านล่าง หากจำเลยยืนอยู่บันไดขั้นบนสุดจะไม่สามารถเตะถึงโจทก์ที่ 2 ได้ และหากจำเลยเดินลงมาอีกหนึ่งถึงสองขั้นบันไดย่อมประชิดตัวโจทก์ที่ 2 ซึ่งโจทก์ที่2และนางสาวศ. ต้องเห็น เหตุการณ์เป็นอย่างดี
อีกทั้ง พยานแวดล้อมกรณีของโจทก์ทั้งสอง ไม่มีพยานปากใดให้การยืนยันว่า จำเลยรับต่อพยานว่าได้เตะโจทก์ที่ 2 ทั้งหลังเกิดเหตุมีการไกล่เกลี่ยในที่เกิดเหตุจำเลยก็ปฏิเสธต่อ ตำรวจของสถานีตำรวจภูธรถลาง ว่า ไม่ได้ทำร้ายร่างกายโจทก์ที่ 2
สำหรับ “ รายละเอียดบาดแผลของโจทก์ที่ 2 ” โจทก์ทั้งสองมีพยานปากแพทย์ออกผลการตรวจชันสูตรบาดแผล เบิกความว่า พยานไม่ได้ตรวจร่างกายโจทก์ที่ 2 เพียงแต่ดูลักษณะบาดแผลจากภาพถ่ายและข้อมูลที่พยาบาลบันทึกไว้เท่านั้น โดยโจทก์ที่ 1 ไม่ได้นำพยาบาลซึ่งเป็นผู้ถ่ายรูปบาดแผลของโจทก์ที่ 2 มาเบิกความยืนยัน และมิได้ส่งภาพถ่ายบาดแผลและประวัติการรักษาทางเวชระเบียนซึ่งโจทก์ที่ 2 เข้าทำการรักษาก่อนออกผลการตรวจทางนิติเวช โดยภาพถ่ายบาดแผลจำเลยเป็นฝ่ายอ้างเป็นพยาน
ดังนั้น ผลการตรวจชันสูตรบาดแผลจึงยังมีข้อพิรุธให้สงสัย เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองที่นำสืบมาจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
ส่วนที่โจทก์ที่ 2 อ้างว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2รับอันตรายแก่จิตใจโดยป่วยเป็นโรค PTSD เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยกระทำความผิดหรือไม่ ดังวินิจฉัยข้างต้น ข้อเท็จจริงว่าโจทก์ที่ 2 ได้รับอันตรายแก่จิตใจหรือไม่ จึงย่อมไม่ใช่ผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลย
นอกจากนี้ที่โจทก์ที่ 2 อ้างว่าป่วยเป็นโรค PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) จำเลยนำสืบหักล้างและมีพยานปากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งศาลหมายเรียกมาให้ความเห็นเป็นหนังสือและมาเบิกความประกอบ มีความเห็นตรงกันว่า “ การวินิจฉัยว่าเป็นโรค PTSD บุคคลนั้นต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่อันตรายถึงแก่ชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บรุนแรง หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเหตุการณ์ที่โจทก์ที่ 2 ได้รับมาตามที่กล่าวอ้างนั้น ไม่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว ”
พิพากษายกฟ้อง
จากคำพิพากษาของศาลชั้นต้น (ศาลแขวงภูเก็ต) ดังกล่าว จะเห็นได้ว่า
เหตุผลที่ศาลพิพากษา “ยกฟ้อง” คือ “ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย” ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗ วรรคสองที่ว่า
“ เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ”
มาดูว่าศาลชั้นต้น สงสัยว่า จำเลยจะเป็นผู้กระทำผิดหรือไม่นั้น ศาลดูจากตรงไหน ?
1. คำเบิกความ และ คำให้การชั้นสอบสวนของโจทก์ที่ 2 (หมอปาย) ประกอบกับ คลิปวิดีโอตามวัตถุพยาน ปรากฏว่า “ มีความแตกต่างและไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ ”
2. โจทก์ที่ 2 (หมอปาย) และนางสาว ศ. “ไม่ได้ยืนยันได้หนักแน่นว่า จำเลยเตะทำร้ายร่างกายโจทก์ที่ 2 โดยมีลักษณะและรายละเอียดการเตะอย่างไรกันแน่
3. คลิปวิดีโอวัตถุพยาน ไม่ปรากฏภาพเหตุการณ์ที่แสดงถึงจำเลยใช้เท้าเตะโจทก์ที่ 2 (หมอปาย) จนมีลักษณะ “คะมำไปด้านหน้า” ดังที่โจทก์ที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวน
4. ปรากฏภาพโจทก์ที่ 2 (หมอปาย) สามารถลุกขึ้นยืน และ เดินออกไปจากที่เกิดเหตุได้อย่างปกติ
5. พยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวนเบิกความว่า “ ตำแหน่งที่โจทก์ที่ 2 (หมอปาย) นั่งบน บันไดขั้นที่สองนับจากด้านล่าง หากจำเลยยืนอยู่บันไดขั้นบนสุดจะไม่สามารถเตะถึงโจทก์ที่ 2 (หมอปราย) ได้
6. ไม่มีพยานปากใดให้การยืนยันว่า จำเลยรับต่อพยานว่า ได้เตะโจทก์ที่ 2
7. พยานปากแพทย์ซึ่งเป็นผู้ออก “ผลการตรวจชันสูตรบาดแผล”เบิกความว่า พยานไม่ได้ตรวจร่างกายโจทก์ที่ 2 (หมอปาย) เพียงแต่ดูลักษณะบาดแผลจากภาพถ่ายและข้อมูลที่พยาบาลบันทึกไว้เท่านั้น
8. การวินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมที่ 2. (หมอปาย) จะเป็นโรค PTSD อันเนื่องมาจากเหตุในคดีนี้หรือไม่นั้น บุคคลนั้นจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่อันตรายถึงแก่ชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บรุนแรง หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่เหตุการณ์ที่โจทก์ที่ 2 ( หมอปาย) ได้รับมาตามที่กล่าวอ้างนั้น ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว
ในคดีอาญานั้น “ห้ามมิให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยจนกว่า จะแน่ใจว่า มีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น” ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227วรรคแรก และ
“ เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ” ( มาตรา 227 วรรคสอง )
ซึ่งหมายความว่า “ หากศาลสงสัยว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ศาลย่อมยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย และพิพากษา“ยกฟ้อง” ได้ทันที
ฉะนั้น ความยากของการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดนั้น อยู่ที่ โจทก์จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็น หรือเชื่อว่า จำเลยเป็นผู้กระทำผิดนั้นจริง โดยปราศจากข้อสงสัย เพราะหากศาลสงสัย ศาลอาจพิพากษา “ยกฟ้อง” โดยอ้างเหตุแห่งความสงสัยนั้นได้ทันที
การที่โจทก์จะพิสูจน์ให้ศาลเห็น หรือเชื่อว่า จำเลยเป็นผู้กระทำผิด โดยปราศจากข้อสงสัยจำเป็นต้องมี
คดีนี้ ในตอนเริ่มต้นคดี ปรากฏภาพข่าวในสื่อต่างๆ ที่ดูแล้วน่าเชื่อว่า เป็นการบันทึกจากโทรศัพท์มือถือของ นาย ด. ที่ทำให้เห็นและน่าเชื่อว่า “ฝรั่งเตะหมอ ” จนกระทั่งนำไปสู่การดำเนินคดีอาญากับนายด. ฯ และการเพิกถอนวีซ่าของนาย ด. และพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่ นาย ด. ว่า “ ทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ซึ่งมีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท
แต่ต่อมา เมื่อพนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีนี้ไปให้ พนักงานอัยการคดีศาลแขวงภูเก็ต พิจารณา พนักงานอัยการคดีศาลแขวงภูเก็ต มีคำสั่ง “ไม่ฟ้อง” นาย ด. ในความผิดฐาน ทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ตาม มาตรา 295 โดยเห็นว่า พยานหลักฐานมีเพียงพอฟ้องนาย ด. ในความผิดฐาน “ ทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ซึ่งมีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน10,000 บาท เท่านั้น
พนักงานอัยการฯ จึงมีคำสั่งฟ้อง นาย ด. ในความผิดฐาน “ ทำร้ายร่างกายไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ตามมาตรา 391 ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ (โทษจะเบากว่า มาตรา 295)
ในครั้งนั้น “สังคม” ได้วิพากวิจารณ์การสั่งคดี และการดำเนินคดีของพนักงานอัยการที่ “สั่งไม่ฟ้อง”นาย ด. ตามมาตรา 295 แต่สั่งฟ้องในความผิดตามมาตรา 391 ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ
ต่อมา ปรากฏภาพข่าวว่า หมอปาย ได้เข้าพบ นายธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำรองนายกรัฐมนตรี (สมศักดิ์ เทพสุทิน)เพื่อขอความช่วยเหลือ และต่อมาปรากฏว่า หมอปาย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีเอง ในความผิดฐาน “ ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 โดยกล่าวอ้างว่า
“ จากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้ โจทก์ (หมอปาย) ป่วยเป็นโรค PTSD ( Post-traumatic Stress Disorder ) อันเป็นอันตรายแก่จิตใจ” ตามมาตรา 295
จึงเป็นที่มาของ : 2 คดี 2 โจทก์ 2 ข้อหา แต่รวมเป็น 1 คดี ( ศาลสั่งรวมพิจารณา )
มาดูความแตกต่างระหว่าง “ทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหริอจิตใจ” ตามมาตรา 295 กับ “ทำร้ายร่างกายไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ตามมาตรา 391
มาตรา 391 “ไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” เช่น แผลถลอก แผลข่วน รอยช้ำแดง รักษาไม่กี่วันหาย แผลกดบวมเจ็บ รักษาไม่เกิน 5 วัน เป็นต้น
มาตรา 295 “ เป็นอันตรายแก่กาย หรือจิตใจ” เช่น แผลแตก มีโลหิตไหล รักษาหลายวันจึงหาย ( แต่ไม่เกิน 20 วัน เพราะหากเกินกว่า 20 วัน อาจเป็น อันตรายสาหัส ตามมาตรา 297 ซึ่งมีโทษหนักกว่า)
เมื่อคดีนี้ ผู้เสียหาย (หมอปาย) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนาย ด. ในความผิดฐาน “ทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ตามมาตรา 295 เอง ก็จะต้องนำสืบให้ได้ว่า
“ ผลจากการทำร้าย (เตะ) ของนาย ด.ดังกล่าว ทำให้ โจทก์ที่ 2 (หมอปาย) ได้รับอันตรายแก่จิตใจ ป่วยเป็นโรค PTSD ( Post-traumatic Stress Disorder ) อันเป็นอันตรายแก่จิตใจ” ตามมาตรา 295
ดังนั้น เมื่อโจทก์ร่วม หรือ โจทก์ที่ 2 (หมอปาย) สืบไม่ได้ว่า กรณีดังกล่าวเข้าหลักเกณฑ์ ป่วยเป็นโรค PTSD ( Post-traumatic Stress Disorder ) อันเป็นอันตรายแก่ จิตใจ ตามมาตรา 295 แล้ว และเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยดังกล่าว กรณีจึงไม่อาจลงโทษ นาย ด.ตามมาตรา 295 ได้
คำพิพากษานี้จะเป็นบทเรียนสำคัญของการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิด นอกจาก คำให้การ ในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายหรือพยาน(ในชั้นตำรวจ) , คำเบิกความของผู้เสียหาย หรือพยาน (ในชั้นศาล)จะต้องเป็นไปตาม “ข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง” สอดคล้องกับพยานวัตถุ พยานเอกสาร ภาพที่บันทึกได้ ทั้งจากกล้องวงจรปิด โทรศัพท์มือถือ (หากมี) และจะต้องมีพยานที่เป็นแพทย์ผู้ตรวจร่างกายของผู้เสียหาย หรือตรวจศพ , พยานที่เป็นนิติวิทยาศาสตร์ และ การดำเนินคดีจะต้องเป็นไปตามพยานหลักฐาน และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง
ข่าว “ฝรั่งเตะหมอ” สะเทือนถึงดวงดาว หลังเกิดเหตุ มีการเพิกถอนวีซ่า , มีการขุดคุ้ยตรวจสอบคดีเก่าเก่าของนาย ด. , การดำเนินการของมูลนิธิ และปางช้างของนาย ด.
ส่วนข่าว ศาลพิพากษา “ ยกฟ้อง ” คดีฝรั่งเตะหมอ ยิ่งสะเทือนไปถึงดวงดาวอีก โดยเฉพาะหมอปาย ที่เกรงว่าอาจถูกนาย ด. ฟ้องกลับได้ ” แล้วสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับหมอปายตามภาพข่าว มันคืออะไร นายด. ไม่ผิดอะไรเลย ใช่หรือไม่ และ การสั่งเพิกถอนวีซ่าของนาย ด. ไปด้วยเหตุดังกล่าวไปแล้ว จะทำอย่างไร ผู้สั่งเพิกถอนวีซ่าจะต้องรับผิดชอบหรือไม่ และผลที่จะตามมาภายหลังคำพิพากษาของศาลฉบับนี้
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า คดีนี้ศาลพิพากษา “ยกฟ้อง” ด้วยเหตุ “ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
มิใช่ “ยกฟ้อง” ด้วยเหตุ “ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด” หรือ “ จำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด” หรือ ที่เรียกว่า “ยกขาด”
การ “ยกฟ้อง” ในคดีนี้จึงเป็น บทเรียนสำคัญสำหรับ พยานผู้เสียหาย พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการโจทก์ ทนายความโจทก์ ในการรวบรวมพยานหลักฐาน และ การพิจารณาดำเนินคดีจักต้องเป็นไปตามพยานหลักฐาน มิใช่ เป็นไปตามสื่อ หรือ เป็นไปตามกระแสสังคม
หมายเหตุ – บทความนี้ผู้เขียนอ้างอิงข้อมูล “คำพิพากษา”ตามที่ปรากฏจากสื่อที่อ้างถึงข้างต้น ซึ่งเผยแพร่ในหลายสื่อในลักษณะเดียวกัน ข้อความคล้ายกัน จึงเชื่อว่าถูกต้อง
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
(อดีต) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน (คนที่สอง) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่ 25)
6 กันยายน 2567