ปลาหมอคางดำ บริโภคได้ มีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นอีกวิธีช่วยกันกำจัดได้อย่างรวดเร็ว

นักวิชาการ แนะการแปรรูปเนื้อปลาหมอคางดำ ช่วยให้คนไทยเข้าถึงและบริโภคได้สะดวกขึ้น ทั้งยังช่วยสนับสนุนภาครัฐกำจัดปลาหมอคางดำได้รวดเร็ว และควบคุมการแพร่กระจายได้อย่างยั่งยืน

ดร.สหภพ ดอกแก้ว รองหัวหน้าภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “ปลาหมอคางดำ” เป็นสัตว์น้ำต่างถิ่น กำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา อยู่ในตระกูลปลาหมอเทศ อาศัยอยู่ในเขตน้ำกร่อยหรือตามชายฝั่ง สามารถทนต่อความเค็มและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้

ปลาหมอคางดำ มีลักษณะตัวค่อนข้างแบน ลำตัวคล้ายปลานิล ซึ่งแตกต่างจากปลาหมอไทยที่มีลักษณะกลมยาว มีหนาม เนื่องจากอยู่กันคนละกลุ่ม ปลาหมอคางดำ มีจุดสังเกตที่บริเวณคางและหน้าจะมีจุดหรือแถบสีดำ โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Sarotherodon melanotheron Ruppell,1852 และชื่อสามัญว่า Blackchin tilapia

ปลาชนิดนี้ เป็นปลาประเภทที่กินทุกอย่าง ทั้งพืชและสัตว์ (Omnivorous Fish) ตลอดจน ซากพืช ซากสัตว์ แพลงก์ตอน ลูกปลา ลูกหอย ถือเป็นปลา “Invasive Species” คือ สัตว์น้ำรุกราน เพราะไปทำลายชีวิตสัตว์น้ำท้องถิ่น จนทำให้เกิดการทดแทนสัตว์น้ำท้องถิ่น ขณะที่ Alien Species ใช้เรียกสัตว์น้ำต่างถิ่นทั้งหมด ซึ่งบางชนิดไม่มีผลกระทบกับระบบนิเวศ หรือ บางชนิดมีผลกระทบน้อย

ดร.สหภพ กล่าวว่า การกำจัดปลาหมอคางดำที่กำลังแพร่ระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติของไทยในขณะนี้ ต้องทำด้วยความรวดเร็ว ไม่เช่นนั้นการระบาดจะขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งทุกหน่วยงานมีแนวทางในการกำจัดปลาหมอคางดำ ทั้งการจับ การไล่ล่า ผลดีคือ ปริมาณปลาหมอคางดำลดลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การใช้ประโยชน์จากปลาที่จับมาได้มีหลายแนวทาง โดยเฉพาะการนำไปทำเป็นอาหาร ซึ่งเป็นวิธีการที่ใกล้ชิดกับคนไทยมากที่สุด ทุกคนสามารถทำได้และมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขวิกฤตในครั้งนี้

สำหรับ เนื้อปลาหมอคางดำ รสชาติเหมือนปลาทั่วไป มีคุณค่าทางโภชนาการไม่ต่างจากปลานิล สามารถนำมาประกอบอาหารในเมนูต่างๆ โดยเฉพาะ อาหารไทย หรืออาหารพื้นบ้านของไทย อาทิ น้ำพริก ขนมจีนน้ำยา ห่อหมก ซึ่งมีลักษณะเด่นที่มีเครื่องเทศหลากหลายชนิด อย่าง กระเทียม หัวหอม พริกแกงต่างๆ สามารถนำเนื้อปลาดังกล่าวมาประยุกต์และปรับเป็นอาหารที่อยู่ในวิถีของคนไทย โดยปรุงให้มีรสชาติอร่อย ถูกปากคนไทยได้ง่าย ทั้ง ต้ม ยำ ทำแกง หลากหลายเมนูอย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้คนไทยเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำได้ เพราะในขณะนี้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล อยากลิ้มลองรสชาติของปลาหมอคางดำ แต่จับปลามาแล้วไม่สามารถกระจายได้ จึงยังเป็นคอขวดอยู่ ดังนั้น แนวทางที่จะทำให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงและช่วยทำลายมัน คือต้องนำไปแปรรูป

ดร.สหภพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ ยังไม่มีหน่วยงานใดรับแร่เนื้อปลา จึงยากต่อการให้คนไทยเข้าถึง หากมีหน่วยงานแปรรูปสัตว์น้ำ โรงงาน บริษัท หรือหน่วยงานที่สนับสนุนนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูป เช่น แร่เนื้อ ขูดเนื้อ รีดเนื้อออกมา บดให้เป็นเนื้อพร้อมใช้แล้วจำหน่ายเป็น เนื้อชิ้น เนื้อแช่เยือกแข็ง แช่เย็น หรือมีการถนอมอาหาร ก็จะสามารถส่งไปยังทุกจังหวัดได้ง่าย และทำให้ปลาดังกล่าว มีราคาเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 5-20 บาท อาจสูงถึงกิโลกรัมละ 80-100 บาทได้”ขอเพียงง่ายต่อการบริโภค ทำให้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์จากปลาหมอคางดำได้ง่าย ประชาชนในจังหวัดต่างๆ เกิดปริมาณการบริโภค ก็จะเป็นการช่วยกันกำจัดปลาหมอคางดำได้เร็วขึ้น” ดร.สหภพ กล่าว

สำหรับข้อกังวลที่ว่า หากเกิดความต้องการเยอะขึ้น จะก่อให้เกิดการเลี้ยงเพื่อรองรับความต้องการการบริโภคนั้น ซึ่งความจริงแล้วไม่สามารถทำได้ง่ายขนาดนั้น เพราะนอกจากผิดกฎหมายแล้วยังไม่สามารถที่จะจำหน่ายปลาหมอคางดำได้ในราคากิโลกรัมละ 20 บาท ไหนจะทั้งต้นทุนการเลี้ยงที่มาก ค่าไฟค่าน้ำมันที่สูง ซึ่งมันไม่คุ้มทุน

ประเทศไทยถอดบทเรียนความสำเร็จในการกำจัดสัตว์ต่างถิ่นได้ จาก ตั๊กแตนปาทังก้า ที่เกิดการระบาดอย่างหนักเมื่อหลาย 10 ปีก่อน และทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย โดยขณะนั้นมีการรณรงค์ให้จับกินและได้นำไปขายตามงานวัดต่างๆ ตามรถเข็น จนทำให้ทุกคนรู้จัก เกิดความชื่นชอบ จนขณะนี้ได้เกือบสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้ว หรือแม้กระทั่ง หอยเชอรรี่ ก็เช่นกัน ที่ถูกนำเข้ามาในประเทศไทย และเกิดการระบาดในนาข้าว สุดท้ายถูกนำมารับประทาน เช่น ตำป่า ยำต่างๆ จนเป็นที่นิยมเกิดการรับประทานกันในปริมาณมาก จนปัจจุบันหอยเชอรรี่ เนื้อที่แกะแล้วมีมูลค่าที่ค่อนข้างสูง ถึงกิโลกรัมละเกือบ 100 บาท เลยทีเดียว

ทั้งนี้ เราคงไม่อาจกำจัดปลาหมอคางดำให้หมดไปได้ 100% เพียงแต่เรียนรู้ที่จะกินมัน เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน และควบคุมมันให้ได้ เชื่อว่าถ้าเราใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำได้ จะทำให้เราอยู่กับมันได้อย่างมีความสุข และอยู่อย่างควบคุมมันได้อย่างยั่งยืน

โดย…ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Related posts