บทความทางกฎหมายโดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ เรื่อง “ เด็ก 1 ขวบ กับ บุหรี่ไฟฟ้า”

บทความทางกฎหมายโดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
เรื่อง “ เด็ก 1 ขวบ กับ บุหรี่ไฟฟ้า”

สืบเนื่องจากข่าว “ แม่ของเด็ก เป็นเยาวชนที่มีอายุเพียง 17 ปี ยอมรับว่า ลูกสูบบุหรี่ไฟฟ้าตามคลิปวิดีโอจริง เริ่มสูบมาได้ 5 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 1 ขวบ 2 เดือน อ้างว่า เป็นการสูบโดยสมัครใจ ไม่ได้บังคับ หากไม่ยอมให้สูบ ลูกก็จะร้องไห้ งอแง ส่วนที่ถ่ายคลิปเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย เพราะ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” ขณะที่ยายของเด็ก บอกว่า “จะรับเอาหลานมาเลี้ยงดูเอง และจะไม่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก”

และเมื่อเป็นข่าว “หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัด….” ในฐานะ “พนักงานเจ้าหน้าที่” ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ พา “ครอบครัวเด็ก” ไปที่สถานีตำรวจภูธรเมือง…… เพื่อแจ้งความให้ดำเนินคดีกับ “แม่เด็ก” ในความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก นอกจากนี้ ตำรวจเตรียมขยายผลว่า “ แม่เด็กซื้อบุหรี่ไฟฟ้ามาจากที่ใด” หากพบแหล่งที่ขายก็จะดำเนินคดีต่อไป

ข่าวนี้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นเจ้าของสถิติใหม่ “ เด็ก 1 ขวบ สูบบุหรี่ไฟฟ้า” ( ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก)

และทำให้ผู้เขียนนึกถึงสุภาษิตคำไทยที่ว่า “ พ่อแม่ รังแกฉัน”
“ เริ่มสูบมาได้ 5 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 1 ขวบ 2 เดือน อ้างว่า เป็นการสูบโดยสมัครใจ ไม่ได้บังคับ หากไม่ยอมให้สูบ ลูกก็จะร้องไห้ งอแง”

มาดูข้อกฎหมายกันว่า “ แม่เด็กอายุ 17 ปี ยินยอมให้ ลูก 1 ขวบเศษ สูบบุหรี่ไฟฟ้า ผิดกฎหมายหรือไม่ และหากผิด ผิดกฎหมายอะไร และ จะต้องรับโทษหรือไม่ ?

(1) การที่ “ แม่ อายุ 17 ปี ยินยอมให้ลูกอายุ 1 ปีเศษ สูบบุหรี่ไฟฟ้าได้” แม่ จะต้องมีไว้ในความครอบครองซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็นของต้องห้าม
การที่“แม่” มีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในความครอบครองก็จะเป็นความผิด
ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 246 วรรคหนึ่ง
“ ผู้ครอบครอง หรือ รับไว้ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้า จะเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 246 วรรคหนึ่ง ฐาน “ ช่วยช่อนเร้น ช่วยจำหน่ายช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักร โดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือ ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมคำอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ เมื่อ “บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้าม” การครอบครองหรือรับไว้ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าแม้จะไม่มีเจตนา หรือ ไม่รู้ว่าเป็นของมีความผิด ก็เป็นความผิดฐาน “รับไว้ด้วยประการใดใดซึ่งตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากร” และต้องถูกริบบุหรี่ไฟฟ้าให้ตกเป็นของแผ่นดินและนำไปทำลายตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ( คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1411 / 2564 )

(2) นอกจากนี้ การที่ “แม่ ” อนุญาต หรือ ยินยอม หรือ รู้และไม่ห้ามปราม ไม่ให้ “เด็ก” (ลูก) ไปกระทำผิด หรือ กระทำการดังต่อไปนี้ ก็จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

มาตรา 26 ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ “ผู้ใด” กระทำการ ดังต่อไปนี้

1. “การทารุณกรรม” ต่อร่างกาย หรือ จิตใจของเด็ก
2. จงใจ หรือ ละเลย ไม่ให้สิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีวิตหรือการรักษาพยาบาลแก่เด็ก
3. บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือ ยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด
4. ใช้ จ้าง หรือ วานเด็กให้ทำงาน หรือ**** กระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก****
5. จำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือ*** ให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก** เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์

ซึ่งจะมีบทลงโทษตาม มาตรา 78 :
ผู้ใด ฝ่าฝืนมาตรา 26 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท

(3) การที่ “แม่เด็ก เอาคลิปวิดิโอ เด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้า ลงสื่อโซเชี่ยล” อาจเป็นความผิด

มาตรา 27 ห้ามมิให้ ผู้ใด “ โฆษณา” หรือ “เผยแพร่ทางสื่อมวลชน” หรือ “สื่อสารสนเทศ”ประเภทใดใด ซึ่ง “ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก”หรือ ผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือ สิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์ สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
แม่เด็ก จึงพยายามสู้ว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์”

จะเห็นได้ว่า “ การที่ แม่อายุ 17 ปี ยินยอมให้ เด็กอายุ 1 ปีเศษสูบ “บุหรี่ไฟฟ้า”” ซึ่งเป็นของที่ใครก็ตามที่มีไว้ครอบครองก็เป็นความผิดกฎหมาย และการที่ แม่อายุ 17 ปี จะบอกว่า “ ไม่ได้บังคับ เด็กสมัครใจเอง มิหนำซ้ำ หากวันใดเด็กไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะงอแง จึงจำยอมให้เด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็ตาม ย่อมเป็นความผิดตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก รวมถึงการนำคลิปวิดิโอเด็ก 1 ปีเศษสูบบุหรี่ไฟฟ้ามาโพสต์ลงสื่อโซเชี่ยล จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ดังได้กล่าวแล้ว แต่ แม่เด็กอายุ 17 ปี คนนี้จะต้องรับผิด และรับโทษตามกฎหมายหรือไม่ มีข้อกฎหมายดังนี้

กรณี แม่อายุ 17 ปี ทำผิดกฎหมายดังกล่าว จักต้องรับผิด และรับโทษหรือไม่ ?

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75
“ ผู้ใด อายุกว่าสิบห้าปี แต่ต่ำกว่าสิบแปดปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ให้ศาลพิจารณาถึง “ความรู้ผิดชอบ”และ สิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้นั้น” ในอันที่จะควรวินิจฉัยว่า “สมควรพิพากษาลงโทษผู้นั้นหรือไม่”

ถ้าศาลเห็นว่า “สมควรพิพากษาลงโทษ” ก็ให้ “ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่ง”
แต่ถ้าศาลเห็นว่า “ ไม่สมควรพิพากษาลงโทษ” ก็ให้ จัดการตามมาตรา 74

มาดู มาตรา 74 ( มีการแก้ไขใหม่)

เด็กอายุ “กว่าสิบสองปี” แต่ยัง “ไม่เกินสิบห้าปี” กระทําการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด “ เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ ให้ศาลมีอํานาจที่จะดําเนินการ ดังต่อไปนี้

(1) ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้ว “ปล่อยตัวไป” และ อาจจะเรียก บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือ บุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ มาตักเตือนด้วยก็ได้
(2) ศาลอาจจะมี “คำสั่งมอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป” โดย “วางข้อกําหนด” ให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ระมัดระวังมิเด็กนั้นไปก่อเหตุร้ายอีก ภายในเวลาไม่เกินสามปี และให้ “ กําหนดจํานวนเงิน ให้ บิดา มารดา หรือ ผู้ปกครองจะต้องชําระต่อศาลไม่เกินครั้งละหนึ่งหมื่นบาท หากเด็กนั้นไปก่อเหตุร้าย รวมถึงศาลจะกําหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้นได้
(3) ส่งตัวเด็กนั้นไปยัง สถานศึกษา หรือ สถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนําทางจิต หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกําหนด แต่ไม่ให้เกินกว่าวันที่เด็กนั้นจะมีอายุครบสิบแปดปี

จะเห็นได้ว่า กรณี เด็กอายุไม่เกิน 18 ปี (ดังเช่นกรณีนี้ เยาวชน 17 ปี) หาก “พนักงานอัยการ” ฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ศาลมี “ดุลพินิจ” หากเห็นควร “ลงโทษ ” ก็ให้ “ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่ง”

แต่หากเห็นควร “ ไม่ลงโทษ” ก็ให้ใช้วิธีการ ” ว่ากล่าวตักเตือนแล้วปล่อยตัวไป หรือ มอบตัวเด็กให้ พ่อแม่ ผู้ปกครองรับตัวไปแล้วกำหนดจำนวนเงินให้ชดใช้หากปล่อยปละละเลยให้เด็กยังคงไปกระทำผิด รวมถึง กำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติ หรือ อาจใช้ “ยาแรง” คือ ส่งตัวเด็กนั้นไปยัง สถานศึกษา หรือ สถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนําทางจิต หรือ สถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลกําหนด แต่ต้องไม่เกินกว่าวันที่เด็กนั้นจะมีอายุครบสิบแปดปี

อย่างไรก็ตาม “พนักงานอัยการ” ก็สามารถให้ความเป็นธรรมในกรณี “ การฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ” ได้ดังเช่นกรณีนี้

“ หาก แม่เด็กซึ่งมีอายุ 17 ปีเศษ ถูกฟ้องดำเนินคดีต่อศาล อาจต้องหาหลักทรัพย์ประกันตัวต่อ สถานพินิจฯ รวมถึง ต่อศาลในชั้นพิจารณาคดี (หากมี) และหาก แม่เด็กไม่มีหลักทรัพย์ หลักประกัน ก็อาจถูก “ควบคุมตัว” แล้วใครจะดูแล เด็ก (ลูก) อายุ 1 ปีเศษ ( แม้ตามข่าว เด็กจะมี ยาย ก็ตาม ) กรณีเช่นนี้ การฟ้องคดีของพนักงานอัยการ อาจจะ ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ ( สาธารณะ หรือสังคมได้ประโยชน์อะไรจากการฟ้องแม่เด็กอายุ 17 ปี ที่ยินยอมให้ลูก 1 ปีเศษ สูบบุหรี่ไฟฟ้า)

ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561

ให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งคดีโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 สำนักงานอัยการสูงสุดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอัยการ ออกระเบียบดังนี้.

ข้อที่ 7 ในกรณีพนักงานอัยการเห็นว่าการฟ้องคดีจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือความมั่นคงของชาติ หรือผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ให้พนักงานอัยการพิจารณาโดยแสดงเหตุผลอันสมควรประกอบโดยให้คำนึงถึง สาเหตุ มูลเหตุจูงใจในการกระทำผิด ลักษณะความร้ายแรง ผลร้ายที่เกิดขึ้น, เหตุผลของกระทรวงการต่างประเทศ ถึงผลกระทบต่อนโยบายส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, เหตุผลตามความเห็นของนายกรัฐมนตรี หรือหน่วยงานอื่น ถึงผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถ้าอัยการสูงสุดเห็นเอง หรือ หัวหน้าพนักงานอัยการเสนอ ว่า การฟ้องคดีใดไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ฯลฯ อัยการสูงสุดมีอำนาจ สั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้อง แล้วแต่กรณี

มาถึงบรรทัดนี้ ผู้อ่านคงจะได้รับความรู้ทางกฎหมายจากข่าว “ เด็ก 1 ปีเศษสูบบุหรี่ไฟฟ้า” ว่า แม่เด็กจะมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ ผิดกฎหมายอะไร และจะต้องรับโทษหรือไม่ รับโทษอย่างไร รวมถึง กรณี “อัยการสูงสุด” อาจมีคำสั่ง “ ไม่ฟ้อง” ด้วยเหตุ “ การฟ้องคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะก็ตาม

แต่จะดีกว่าไหมถ้า ……ไม่มีข่าว หรือ เหตุการณ์… “ เด็ก 1 ปีเศษ สูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยแม่ยินยอม หรือ ไม่ห้าม (อย่างเด็ดขาด จริงจัง) หรือ ไม่มีข่าว..ประเทศไทยสร้างสถิติ ผู้สูบ บุหรี่ไฟฟ้า ที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก ( อายุ 1 ปีเศษ )

*** นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
( อดีต ) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน (คนที่สอง) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ( สมัยที่ 25 )
19 มิถุนายน 2567

Related posts