มหาวิทยาลัยไทยบินจับมืออียิปต์เข้าพบ ‘Grand Mufti’ยกระดับการศึกษาวิชาการอิสลาม

มหาวิทยาลัยไทย บินจับมืออียิปต์ ร่วมมือวิชาการ เข้าพบ Grand Mufti พร้อมยกระดับการศึกษาและวิชาการอิสลามในประเทศไทย

ระหว่างวันที่ 4 – 12 มีนาคม 2567 ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศและคณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ เป็นหัวหน้าคณะเดินทาง พร้อมด้วย ดร.บัณฑิต อารอมัน ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ อาจารย์ชนิดาภา หนูนวลวุฒิวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศ ดร.ปริญญา ประหยัดทรัพย์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต ดร.สมีธ อีซอ ผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต ดร.จักรกฤช มานน้อย ผู้อำนวยการหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต อาจารย์ซารีฮาน ขวัญคาวิน ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ และนายสุรพันธ์ อามีนเซ็น เจ้าหน้าที่ศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก เดินทางไปกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เพื่อประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยเกริกและสร้างการรับรู้ด้านการศึกษาและงานวิชาการ

การเดินทางในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่คณะเดินทางได้เข้าเยี่ยมคารวะนายธนบดี จูทอง อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ กว่า 70 ปีที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอียิปต์ยังคงแน่นแฟ้น ตลอดจนมีการส่งเสริมการศึกษาให้กับนักศึกษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนไทยมุสลิมซึ่งเดินทางมาศึกษา
ณ กรุงไคโรเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ศ.ดร.จรัญฯ พร้อมคณะ เดินทางเข้าเยี่ยมและคารวะ Prof.Dr. Salama Dawood, อธิการบดีและผู้บริหารระดับสูง มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ในช่วงของการหารือมีประเด็นที่สำคัญคือการยกระดับการศึกษาและพัฒนาบัณฑิตที่มีศักยภาพนั้น ถือว่าเป็นหัวใจหลักของพันธกิจมหาวิทยาลัยทุกแห่ง นอกจากนี้ยังได้หารือถึงกรอบความร่วมมือในการพัฒนาและยกระดับทักษะภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอาหรับที่ใช้สนทนาทั่วโลกกว่า 270 ล้านคน นอกจากนี้ คณะเดินทาง ยังได้เข้าพบ Mr.Abdullah Yigit กรรมการผู้จัดการและ Mr.Mohamed Shalaby ผู้จัดการทั่วไป ของศูนย์ภาษาอาหรับเนลประเทศอียิปต์ ที่มีการจัดการเรียนการสอนภาษาอาหรับสำหรับมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม ซึ่งถือเป็นโอกาศดีในการนำรูปแบบการจัดการเรียนการสอนมาปรับใช้ใน ม.เกริก ต่อไป

พร้อมกันนั้น คณะเดินทาง ยังได้เข้าเยี่ยมนักศึกษาไทย ณ สมาคมนักศึกษาไทยในกรุงไคโร ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประเทศอียิปต์ พร้อมทั้งได้แนะนำหลักสูตรที่เปิดสอนที่มหาวิทยาลัยเกริก ในสาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญในการต่อยอดองค์ความรู้และช่องทางในการศึกษาต่อที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกริกยังได้แนะแนวทักษะทางธุรกิจอิสลาม ซึ่งจำเป็นที่จะต้องสร้างบุคลากรยุคใหม่ที่มีวิชาความรู้ด้านศาสนาควบคู่สามัญให้สามารถดำเนินกิจการด้านธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้มีความก้าวหน้าต่อไป

Related posts