นครราชสีมา – สคร.9 โคราช เผย 4 จังหวัด อีสานล่าง พบป่วยไข้เลือดออก เกือบ 1 พันราย ดับ 1 ราย ย้ำมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ในช่วงนี้ โรคไข้เลือดออก มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน มีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้เกิดน้ำขังในภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย สคร.9 นครราชสีมา ขอเน้นย้ำมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค ป้องกันโรคไข้เลือดออก คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน และเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ขอให้คิดว่าอาจป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพรินและไอบูโพรเฟนมารับประทาน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา ช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้
สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 20 ส.ค. 2565 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวน 16,276 ราย เสียชีวิต 14 ราย ส่วนสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่ต้นปี 1 มกราคม ถึง 20 ส.ค.2565 พบผู้ป่วยสะสม 833 ราย เสียชีวิต 1 ราย (อยู่ระหว่างการทบทวนสรุปสาเหตุการเสียชีวิต) แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ จังหวัดนครราชสีมา พบผู้ป่วย 333 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต จังหวัดชัยภูมิ พบผู้ป่วย 98 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต จังหวัดบุรีรัมย์ พบผู้ป่วย 21 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต จังหวัดสุรินทร์ พบผู้ป่วย 381 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต อาการของโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงเฉียบพลัน และสูงลอยประมาณ 2-7 วัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเบื่ออาหาร ส่วนใหญ่ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ต่อมาไข้จะลดลง ในระยะนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดภาวะช็อคและเสียชีวิตได้ หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน และเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง ขอให้คิดว่าอาจป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพรินและไอบูโพรเฟนมารับประทาน และรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัย และการดูแลรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้
นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันโรคไข้เลือดออก ควรกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายรอบบ้าน ใช้ทรายกำจัดลูกน้ำบริเวณน้ำขัง หรือทำลายภาชนะที่มีน้ำขัง และที่สำคัญไม่สร้างแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพิ่มขึ้น เช่น ปิดฝาถังขยะให้มิดชิด ทิ้งขยะประเภทภาชนะใส่อาหารลงในถังขยะ โดยขอให้ยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ เก็บบ้านให้สะอาด ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบบ้าน ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บขยะบริเวณรอบบ้านไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และ เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันยุงลายมาวางไข่ เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422.
ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ // นครราชสีมา รายงาน