นราธิวาส-คกก.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและอุตสาหกรรมบริการ 3 จชต. มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา เตรียมดำเนินโครงการ “เบตง 10,000 ล้าน” ดึงนักท่องเที่ยวปีละ 2 ล้านคน สร้างรายได้การท่องเที่ยวครบวงจร
ดร.ณพพงศ์ ธีระวร ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและอุตสาหกรรมบริการ 3 จชต. มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา เปิดเผยว่า สำหรับโครงการเบตง 10,000 ล้าน เป็นโครงการที่ทางคณะกรรมการฯจะดำเนินการพัฒนาพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา ใน 4 ด้านหลักๆ โดยการจัดทำวิจัยเพื่อสร้าง “แผนแม่บท” ของอุตสาหกรรมบริการ และการท่องเที่ยวของจังหวัดยะลา จัดทำการศึกษาความเป็นไปได้ หรือ Feasibility Study โครงการเบตงหมื่นล้าน โดยมุ่งเน้นแนวทางในการดึงนักท่องเที่ยว 2 ล้านคนต่อปี และกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจับจ่ายเฉลี่ยไม่น้อยกว่าคนละ 5,000 บาท ปรับปรุงหลักสูตรของทุกคณะให้มีทิศทางสนับสนุนอุตสาหกรรมบริการ และการท่องเที่ยว รวมถึงการจัดทำการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาวิชาชีพในอุตสาหกรรมบริการ และการท่องเที่ยว
“อำเภอเบตงมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว จึงจำเป็นต้องรักษาฐานกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายไว้ โดยอาศัยความเป็นเจ้าบ้านที่ดีและเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว รวมถึงเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวในอำเภอ เบตง และพื้นที่ใกล้เคียงเป็น LandMark แห่งใหม่ เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวสู่จังหวัดภาคใต้ชายแดนต่อไป รวมทั้ง การนำโครงการเบตง 10,000 ล้าน เป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบฐานพัฒนาหลักสูตร ทั้งนี้ โดยบูรณาการผลิตบัณฑิต วิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ให้เกิดผลกระทบทั้งคุณภาพบัณฑิต และคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีความสามารถในเชิงปฏิบัติเพื่อการประกอบอาชีพ อีกทั้ง สร้างผู้ประกอบการและธุรกิจการท่องเที่ยวให้มีช่องทางการขยายตัวและเติบโตของเศรษฐกิจในท้องถิ่นแบบครบวงจร โดยได้รับการยอมรับด้านมาตรฐานการท่องเที่ยวในระดับสากล มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมการศึกษา และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างเม็ดเงินอย่างมหาศาลลงมาสู่ชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น ผ่านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและอุตสาหกรรมบริการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายความร่วมมือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่” ดร.ณพพงศ์ กล่าว
ส่วนแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาในอำเภอเบตง ดร.ณพพงศ์ บอกว่า ต้องเน้นการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง และด้านสังคม การร่วมกลุ่มเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากภาคอุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเกิดความมั่นคงในทุกมิติของพื้นที่ และการบูรณาการสร้างการรับรู้แนวทางการพัฒนาร่วมกันกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มีการจัดตั้งศูนย์เศรษฐกิจฐานรากและอุตสาหกรรมบริการต้นแบบ ในการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ การวิจัย การสร้างนวัตกรรมและการสร้างสรรค์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการแบบครบวงจร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพให้แก่นักศึกษา ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่ ภายใต้แผนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและอุตสาหกรรมบริการเพื่อสร้างโอกาสการท่องเที่ยวสู่ “เบตง 10,000 ล้าน
“ผมมีความตั้งใจในการกลับมาพัฒนาพื้นที่จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นบ้านเกิด โดยเมีความตั้งใจฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดยะลา เล็งเห็นศักยภาพของอำเภอเบตง เป็นอำเภอใต้สุดของประเทศไทย มีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง รวมถึงมีหมอกตลอดทั้งปี อำเภอเบตงเป็นเมืองการค้าชายแดนและเมืองท่องเที่ยวที่มีความสวยงามของทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศ เพื่อสร้างเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวในพื้นที่ให้โดดเด่นและเกิดความสำเร็จนั้น จำเป็นต้องอาศัยสิ่งดึงดูดเชิงอัตลักษณ์ของเบตง โดยประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่อยู่ในความสนใจของนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่ง ได้แก่ สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามอาหารจานเด็ดเชิงอัตลักษณ์ที่สามารถดึงดูดรายได้จากนักท่องเที่ยวจนเป็นที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวจากทั้งในและต่างประเทศซึ่งเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่ ส่งผลทำให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวที่มีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น” ดร.ณพพงศ์ กล่าว
ดร.ณพพงศ์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับโครงการเบตง 10,000 ล้าน ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในอีกไม่นานนี้ ได้รับความร่วมมือจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทย ที่เดินทางลงพื้นที่เมื่อวันที่ 21-23 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการการท่องเที่ยว ผู้เชี่ยวชาญทางการทางด้านการให้ความรู้ การพัฒนาด้านอาชีพต่างๆ รวมทั้งสถาบันทางการเงิน ที่พร้อมที่จะสนับสนุนโครงการนี้ให้เดินหน้าไปสู่จุดหมาย เบตง 10,000 ล้าน ภายใน 5 ปี หลังจากนี้ และเชื่อว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ จะสามารถสร้างเม็ดเงินอย่างมหาศาล ลงมาสู่ชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น โดยก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่อำเภอเบตง อำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา และเชื่อมโยงไปยังพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่ใกล้เคียงสู่ชายแดนภาคใต้ที่เพิ่มขึ้น การสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเสริมสร้างความมั่นคงในทุกมิติ ส่งผลให้เศรษฐกิจเข้มแข้ง สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป
แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส รายงาน