7 วันอันตราย ผ่าน 5 วัน ดับ 263 เจ็บ 2,198 คนสาเหตุ”ขับรถเร็ว-ดื่มแล้วขับ”

ศปถ.เข้ม ดูแลถนนสายหลัก อำนวยความสะดวกจราจร แนะ “เร็ว เมา โทร ง่วง ไม่ขับ” 7 วันอันตราย ผ่าน 5 วัน ผู้เสียชีวิต 263 ศพ ผู้บาดเจ็บ 2,198 คน สาเหตุ “ขับรถเร็ว-ดื่มแล้วขับ”

เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2565 เมื่อเวลา 10.30 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2565 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 2 มกราคม 2565 เกิดอุบัติเหตุ 307 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 34 ศพ ผู้บาดเจ็บ 311 คน สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วัน ของการรณรงค์ (29 ธ.ค.64 – 2 ม.ค.65) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,221 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 263 ศพ ผู้บาดเจ็บรวม 2,198 คน ศปถ.ได้กำชับให้จังหวัดประสานการปฏิบัติและเชื่อมโยงการทำงานระหว่างพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับของประชาชน เน้นการดูแลความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร บนเส้นทางสายหลักและสายรองเชื่อมต่อระหว่างอำเภอจังหวัด พร้อมกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย ฝากเตือนปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด “เร็ว เมา โทร ง่วง ไม่ขับ” เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี (ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์) เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 2 มกราคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่ห้าของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 307 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 34 ศพ ผู้บาดเจ็บ 311 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 34.85 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 29.32 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.02 รองลงมา คือ รถปิกอัพ/กระบะ ร้อยละ 8.14 อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 83.40 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 41.69 ถนนใน อบต./หมู่บ้านร้อยละ 32.57 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 18.01 – 21.00 น. ร้อยละ 21.82 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 40 – 49 ปี ร้อยละ 15.97 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,903 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 66,014 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 436,162 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 91,720 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกกันน็อก 26,860 ราย ไม่มีใบขับขี่ 23,639 ราย

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ตรัง (12 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และอุดรธานี (จังหวัดละ 3 ศพ) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (15 คน) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 53 จังหวัด ในส่วนของสรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค.64 – 2 ม.ค.65) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,221 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 263 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,198 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ เชียงใหม่ (82 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (17 ศพ) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (78 คน)

Related posts