เอ๋ยชื่อ “จ่าเอกสุวรรณ ศาสนนันท์” เชื่อว่าหลายๆคนที่อยู่ในแวดวงดนตรีไทยและเครื่องดนตรีไทย โดยเฉพาะปี่ ขลุ่ย คงจำฝีมือและชื่อเสียง ผลงานของเขาได้อย่างขึ้นใจ ด้วยความที่คลุกคลีอยู่ในวงการดนตรีไทยมายาวนาน และชื่นชอบดนตรีไทยอยู่ในสายเลือดมาตั้งแต่เยาว์วัย จนได้รับการเชิดชู “ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 67”
จ่าเอกสุวรรณ เล่าความหลังว่า ในอดีตเป็นนักดนตรีไทยแบบบ้านบ้าน ธรรมดาคนหนึ่ง แต่ชื่นชอบเสียงดนตรีไทยมาตั้งแต่เด็กๆอายุแค่ 10 ขวบ ตนได้ทำการฝึกฝนอยากจะตีฆ้องวงใหญ่ แต่ทางครอบครัวไม่ค่อยจะสนับสนุนมากนัก เนื่องจากเห็นว่าพี่ๆน้องในวงศ์ตระกูลเข้ารับราชการกันหมด
โดยส่วนตัวการฝึกหัดเล่นดนตรีช่วงแรกๆ มีครูสิงห์ เป็นครูคนแรก ต่อมาฝึกหัดตีฆ้องวงกับครู เนื่องจากมองเห็นหน่วยก้านดี จึงได้มาฝึกฝนเรียนรู้วิชาดนตรีจากผู้มีประสบการณ์โดยตรง จนสามารถบรรเลงเพลงโหมโรงได้ พออายุได้15ปี ทางพี่ชายเห็นว่าชอบดนตรี ลองซื้อขลุ่ยมาให้ทดลองเป่าดู แต่ปรากฏว่าครูสิงห์เห็นแววดี จึงเลยหันมาฝึกหัดเครื่องเป่าให้ นับจากนั้นเริ่มเบิกทางหันมาฝึกเป่าปี่ ซึ่งเพลงแรกที่เป่าได้ในช่วงนั้นคือ เพลงสร้อยสน จึงได้เรียนรู้ทักษะการเป่าปี่จนชำนาญคล่องแคล่ว ทางด้านครูสิงห์จึงนำไปฝากตัวให้เรียนกับครูสมบัติต่อ ซึ่งเป็นครูผู้ใหญ่อีกคนหนึ่งเก่งเรื่องการเป่า จึงตั้งใจฝึกฝนเรียนรู้เพิ่มเติม จนได้วิชาสามารถต่อเพลงพญาโศก แขกมอญ นกขมิ้นและเพลงอื่นๆได้คล่อง
และเมื่อปี 2512 ตนได้รับโอกาสที่ดีในวิชาดนตรีไทย จึงได้ไปฝากตัวกับ ครูกาหลง พึ่งทองคำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ดนตรีไทย ปี 2549 ขณะนั้นครูกาหลงได้มาปรับปรุง การเป่า และเสริมวิชาการ เทคนิคการบรรเลงให้มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์แบบ จึงได้ฝึกหัดเรียนปี่ชวา ปีมอญเสริมไปด้วย
กระทั่งปี 2526 ความรู้ ความสามารถด้านดนตรี ประเภทเครื่องเป่า สามารถพลิกชีวิตให้ผู้ชายจากริมฝั่งเจ้าพระยา ย่านปากเกร็ด จ.นนทบุรี สามารถบรรจุเข้ารับราชการในกองดุริยางค์ ทหารเรือ ตำแหน่งคนปี่ ซึ่งตนไม่เคยคิด ไม่เคยฝันว่าวันหนึ่งมารับใช้ชาติในการเป็นทหารได้อย่างสมเกียรติ จึงได้โอกาสมาพบกับคุณสุวิทย์ หนึ่งครูปี่ที่มีชื่อเสียงในเมืองไทย จึงได้เพาะบ่มความรู้เพิ่มด้านการเป่าปี่ชวาได้อีกระดับหนึ่ง
ขณะเดียวกัน ในช่วงอยู่วงดุริยางค์ทหารเรือ ช่วงมีเวลาว่างจึงได้ทำการฝึกฝนเป็นช่างทำปี่ควบคู่ไปด้วย โดยได้ความรู้จากช่างครูผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เคยสร้างปี่ จนนำมาฝึกฝนทำปี่อยู่ที่บ้านพักใหญ่ จนกว่าจะประสบผลสำเร็จได้ ต้องมีความอดทน หาประสบการณ์ เรียนรู้การแกะ งานกลึงไม้ ตนมีความมุ่งมั่น พยามยามสูงจนสำเร็จ สามารถสร้างปี่แจกให้กับคนเป่าปี่ไปหลายคน จนในที่สุดมีความเชี่ยวชาญได้เรียนรู้ศาสตร์การสร้างปี่มาเป็นวิชาติดตัว ทำมาหากิน ประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวมีรายได้
แม้ว่า ช่วงแรกอาจโดนติชมมาบ้าง แต่ก็ไม่ท้อถอย เพราะทุกอย่างต้องมีกาปรับปรุงและพัฒนาเทคนิคการทำงานได้ เพื่อที่ให้ชิ้นงานออกมาให้ดีที่สุด จนวันหนึ่งตัดสินใจลาออกจากอาชีพรับราชการกองดุริยางค์ทหารเรือ เพื่อกลับมาเป็นช่างทำปี่แบบเต็มตัวจนถึงวันนี้ ซึ่งช่วงนั้นตนอายุแค่35 ปี ใช้เวลาอาชีพรับราชการได้ไม่นานมาก
“แรงบันดาลใจที่หันมาเป็นช่างทำปี่ เพราะว่าได้เห็นครูเทียม ที่มีความเก่งกาจเรื่องเป่าปี่ที่มีชื่อเสียงแล้ว สามารถนำความรู้เรื่องเสียงปี่ นำมาทำปี่ได้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นอีกคนหนึ่งที่ยอมรับในวงการปี่เมืองไทย จนวันนี้ผมสามารถทำปี่ได้หลายประเภท อีกทั้ง ยังทำขลุ่ยได้ด้วย ซึ่งมีศิลปินชื่อดังเมืองไทย ระดับแถวหน้ามาซื้อปี่ และขลุ่ยที่ผมทำไปเป่ากันหลายคน ” จ่าเอกสุวรรณกล่าว
จวบจนวันนี้ ชื่อเสียง “จ่าเอกสุวรรณ” นักสร้างปี่ ขลุ่ยในวงการดนตรีไทยค่อนข้างเป็นที่รู้จักกันดี เพราะนำเครื่องดนตรี ที่รังสรรค์จากมันสมอง สองมือ มาใช้ในการเล่นดนตรีในวงกันอีกมากมาย จนแทบไม่มีเวลาทำเครื่องเป่าได้ทันกับความต้องของนักดนตรี ส่วนยามว่างปัจจุบัน ยังเป็นอาจารย์พิเศษ สอนด้านดนตรีไทยให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ย่านบางเขน กทม.
ส่วนเรื่องเทคนิคการทำปี่ ส่วนหนึ่งทำขึ้นมาเองหรือซื้อเครื่องมือเก่าๆ มาประกอบใช้เอง ซึ่งการเป็นผู้สร้างปี่นั้น ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะแรกๆตนไม่มีความรู้และประสบการณ์มากมาย แต่พอทำไปนานๆจึงมีความเชี่ยวชาญ อย่างน้อย คนเคยเป่าปี่มาก่อน จึงได้เปรียบรู้เรื่องการเทียบเสียงได้ดีกว่าคนที่ไม่เคยเรียนรู้เรื่องดนตรี สำหรับปี่ใน เสียงที่ดีต้องมีความคม ชัด ใสและก้องกังวาลด้วย อีกทั้ง ยังมีแนวคิดพัฒนาออกแบบทรง เครื่องเป่าได้สวยงาม
ผลงานเรื่องดนตรี “จ่าเอกสุวรรณ” ถือว่าเป็นบุคคลต้นแบบความมุ่งมั่นเรื่องเครื่องเป่า จนมีชื่อเสียงก้าวขึ้นมารได้รับฉายา “พญาปี่” เมืองไทย ที่เก่งและร่วมอนุรักษ์ดนตรีไทย มรดกที่ทรงคุณค่าของแผ่นดิน