ไข้เลือดออกปีนี้ 4 จว. อีสานล่าง ป่วย 4,812 ราย ตาย 8 โคราชมากสุด 2,507 ราย ตาย 2

นครราชสีมา-ไข้เลือดออกปีนี้  4 จังหวัดอีสานล่าง เขตสุขภาพที่ 9 พบป่วยมากถึง 4,812 ราย เสียชีวิต 8 ราย โคราชพบป่วยมากสุด 2,507 ราย เกินครึ่งหนึ่งของยอดรวม 4 จังหวัด  และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ย้ำ ปชช.ทุกบ้านดูแลตนเอง  ชุมชนป้องกันควบคุมการระบาดตามมาตรการอย่างเข้มข้น

นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา  เปิดเผยสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกใน 4 จังหวัดอีสานตอนล่างในเขตสุขภาพที่ 9 ว่า โรคไข้เลือดออก ยังคงเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในช่วงหน้าฝน โดยเฉพาะหลังน้ำลด อาจมีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จึงต้องร่วมกันเฝ้าระวังและป้องกันโรคให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น  ซึ่งกลุ่มระบาดวิทยาและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา  ได้รายงานสถานการณ์ทางระบาดวิทยาโรคไข้เลือดออก สัปดาห์ที่ 34 ปี 2537 ว่า ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 ถึง 24 สิงหาคม 2567 ทั่วประเทศ พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมมากถึง 68,353 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 49 ราย

ในขณะที่สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ในเขตสุขภาพที่ 9 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 – 7 กันยายน 2567 พบผู้ป่วยสะสม ใน 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง จำนวน 4,812 ราย และมีผู้เสียชีวิต จำนวน 8 ราย เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วยสะสมมากสุด 2,507 ราย และเสียชีวิต 2 ราย ซึ่งมากเกินครึ่งหนึ่งของยอดรวม 4 จังหวัดอีสานล่าง  รองลงมาคือ  จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วยสะสม 940 ราย เสียชีวิต 3 ราย ,  จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วยสะสม 823 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต และ จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วยสะสม 542 ราย เสียชีวิต 3 ราย โดยกลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี และ กลุ่มอายุ 0-4 ปี ตามลำดับ  ซึ่งในพื้นที่ จ.นครราชสีมา  อำเภอที่พบอัตราป่วยโรคไข้เลือดออกมากสุด คือ อ.ครบุรี รองลงมาคือ อ.ปากช่อง , อ.ขามทะเลสอ ,อ.สูงเนิน , อ.ลำทะเมนชัย และ อ.เฉลิมพระเกียรติ  ตามลำดับ

ดังนั้น ขอเน้นย้ำประชาชนทุกบ้านทุกครัวเรือน ป้องกันตนเองและคนในครอบครัวอย่าให้ถูกยุงกัด  โดยการทายากันยุงหรือนอนในมุ้ง รวมทั้ง ดูแลกันเองแบบ “บ้านใครบ้านมัน” ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง สะอาด ไม่ให้เป็นที่เกาะพักของยุง  ขณะเดียวกัน ทุกชุมชนต้องร่วมกันสำรวจควบคุมค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายไม่ให้เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด   ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้ครอบคลุมพื้นที่  โดยเฉพาะเด็กเล็ก ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและกลุ่มนักเรียน จะต้องป้องกันอย่างเข้มข้น โดยหากพบผู้ป่วยจะต้องสอบสวนโรคเฉพาะรายทุกราย และดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคโรคไข้เลือดออก

ที่สำคัญ หากประชาชนสงสัยป่วยเป็นไข้เลือดออก โดยมีอาการไข้สูงร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขนขา เป็นต้น ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก และแอสไพริน รวมถึงยาชุด เพราะจะมีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหาร และยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต  แต่ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ได้กำชับให้หน่วยงานในพื้นที่ให้เฝ้าระวังติดตามและประเมินสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในช่วงหลังน้ำลดอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดเตรียมแผนเผชิญเหตุและสนับสนุนทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว ร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยงานในพื้นที่กรณีเกิดการระบาดของโรค รวมถึง เร่งสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การป้องกันโรคแก่ประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาดังกล่าว โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

โดย…ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา

 

Related posts