สอนชาวสวนนราธิวาส แปรรูปมังคุดเพิ่มมูลค่าผลผลิต เป็นรายได้เสริมสู้ราคาตกต่ำ

สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส ร่วมกับเกษตรกร ส่งผู้เชี่ยวชาญมาสอนการแปรรูปผลไม้ โดยนำมังคุดมาแปรรูปทำพายมังคุด เพื่อเป็นอาชีพเสริมแก่เกษตรกร และแก้ปัญหาราคามังคุดตกต่ำ ที่เหลือเพียง กก.ละ 20 บาท สกัดกั้นพ่อค้าเอาเปรียบโก่งราคา โดยสามารถขายพายมังคุดได้ในราคาชิ้นละ 25 บาท

นายกาญจนวิช บัวสว่าง อาจารย์จากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส ได้ร่วมกับเกษตร จ.นราธิวาส นำวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปผลไม้ต่างๆ มาทำการอบรมชาวบ้าน ซึ่งเป็นเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจในชุมชนต่างๆ ในพื้นที่อำเภอต่างๆ ของ จ.นราธิวาส โดยที่บางคนเป็นเกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้ โดยเฉพาะมังคุดที่ขณะนี้ราคาเริ่มตกต่ำ จากผลผลิตที่ออกสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมาก

จากเดิมราคากิโลกรัมละ 50-70 บาท ปัจจุบันเหลือเพียงราคากิโลกรัมละ 20 บาท และมีแนวโน้มราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง และเป็นการสกัดกั้นการเอาเปรียบของพ่อค้าแม่ค้าที่เดินทางมารับซื้อกดหรือโก่งราคา จึงได้อาศัยใต้ถุนอาคารเอนกประสงค์ของ ห้างหุ้นส่วนจำกัดนาราโกลบอล อินโนเวชั่น กรุ๊ป ที่อยู่ใน ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส เป็นสถานที่ฝึกอบรมเกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้ในครั้งนี้ ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมได้เดินทางมาจาก อ.รือเสาะ อ.สุไหงโก-ลก อ.ยี่งอ และ อ.เจาะไอร้อง จำนวนกว่า 60 คน โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญได้มีการอบรมทางวิชาการ พร้อมทั้งได้ลงมือปฏิบัติไปพร้อมๆ กันในครั้งนี้

การทำขนมพายมังคุดในครั้งนี้ได้มีการแยกปฏิบัติออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ทำไส้พายมังคุด และ 2.การทำแป้งพาย หรือแม่พิมพ์ ซึ่งการทำไส้พายก็ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด โดยนำไข่ไก่ น้ำตาลปี๊บ เนื้อมังคุดที่แกะเมล็ดออกแล้วมาปั่นในเครื่องบด แป้งข้าวจ้าว แป้งสาลี และเกลือ มาผสมให้เข้ากันในอัตราส่วนที่เหมาะ แล้วนำไปใส่ในกระทะทองเหลือง แล้วตั้งไฟอ่อนๆ กวนไปประมาณ 40 นาที เมื่อเหนียวหรือหนืดตามต้องการก็เป็นอันว่าสิ้นสุดกระบวนการทำไส้พาย

จากนั้นต้องทำแป้งหรือแม่พิมพ์ ด้วยการใช้แป้งว่าว มาการีน น้ำตาลทราย เกลือ น้ำเย็น และไข่แดง นวดให้เข้ากัน เมื่อได้ที่ใช้ลูกกลิ้งรีดแผ่นแป้งให้บางพอประมาณ จากนั้นนำไปติดกับแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้ ซึ่งเป็นลักษณะของรูปทรงเรือโดยรอบ แล้วนำไส้พายมังคุดที่เราตั้งไฟเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ใช้ช้อนตักใส่ลงในแม่พิมพ์ พร้อมทั้งได้ใช้แป้งตัดตกแต่งบนหน้าพายให้มีความสวยงาม แล้วนำไปใส่ตู้อบประมาณ 40 นาที จนพายสุกสามารถนำมารับประทานได้เลย ต้นทุนการทำพายมังคุดอยู่ที่ประมาณชิ้นละ 10 กว่าบาท แต่หากนำมาจำหน่ายตามท้องตลาดจะจำหน่ายได้ในราคาชิ้นละ 25 บาท ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกในการเพิ่มมูลค่าของมังคุดที่ราคาตกต่ำ ที่บางปีจะมีราคาเพียงกิโลกรัมละ 5 บาทเท่านั้น

โดยทางอาจารย์จากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส ได้มีแนวคิดที่จะต่อยอดมังคุด หรือผลไม้ต่างๆ ตามฤดูกาลที่มีราคาตกต่ำ นำมาแปรรูปเป็นขนม หรืออาหารประจำ จ.นราธิวาส โดยเฉพาะพายมังคุดจะมีการต่อยอดในโอกาสต่อไป ด้วยการทำพายเป็นรูปลักษณ์ของเรือกอและ ซึ่งถือว่าเป็นการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ถิ่นของจังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้าน นายกาญจนวิช กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส ให้ครูมาสอนการแปรรูปมังคุดที่เป็นผลไม้ของนราธิวาสที่ช่วงนี้ออกเยอะ เอามาแปรรูปสอนให้กับชาวบ้านกลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชนในอำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอเจาะไอร้อง จะได้เป็นอาชีพเสริม ทำให้เพิ่มมูลค่าทางการเกษตร ต่อยอดอาชีพอีกอย่างหนึ่ง จากมังคุดกิโลละ 20 บาท เรานำเนื้อในของมังคุดมาทำการกวนทำพาย เรียกว่า พายมังคุด ทำให้เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร.

Related posts