ระดับน้ำในแม่น้ำโขง ที่ จ.บึงกาฬ ล้นเขื่อนป้องกันตลิ่ง เอ่อท่วมถนนแลนด์มาร์กริมโขง ยาวกว่า 3 กม. จนท.เทศบาลเมืองบึงกาฬ ต้องนำแผงเหล็กกั้น และแจ้งเตือนงดใช้เส้นทางจนกว่าน้ำจะลดลง ขณะที่ฝั่งเพื่อนบ้าน สปป.ลาว ก็ได้รับผลกระทบ ไร่นาเจอน้ำท่วมเป็นวงกว้างเช่นกัน
เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดบึงกาฬ เช้าวันนี้วัดได้ 12.20 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 1.80 เมตร (ตลิ่ง 14.00 เมตร (ห่างจากจุดวิกฤติ 13 เมตร เพียง 80 เซนติเมตร ถึงแม้ในจังหวัดเลย และหนองคาย ระดับน้ำโขงจะเริ่มลดลงแล้ว แต่ในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬน้ำยังคงเพิ่มขึ้นอีก ประกอบกับในพื้นที่มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง และมีมวลน้ำเหนือจากลำน้ำสาขา และปริมาณน้ำสะสมจากภูเขาควาย ฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ไหลลงมาตามลำห้วย และแม่น้ำสายหลักของฝั่ง สปป.ลาว เช่น แม่น้ำงึม แม่น้ำเงียบ และแม่น้ำปากซัน ไหลลงมาบรรจบในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นอีก และยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากทางภาคเหนือในหลายจังหวัดยังมีน้ำท่วม โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายที่กำลังเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง และในวันที่ 26-31 ส.ค. กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคอีสาน
ระดับน้ำแม่น้ำโขงที่เพิ่มสูงขึ้นได้ไหลกลับเข้าลำห้วยปาน ที่อยู่ในตำบลวิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ เริ่มเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่มและติดกับลำห้วยในพื้นที่บ้านพันลำ ม.2 ต.วิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ เช่นเดียวกับที่บริเวณถนน “แลนด์มาร์ก” ของโครงการพัฒนาตามผังเมืองรวมจังหวัดบึงกาฬ บริเวณริมถนนข้าวเม่า ตำบลวิศิษฐ์ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ ที่ออกแบบการก่อสร้างโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง บนพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ ระดับน้ำที่สูงเอ่อล้นเขื่อนป้องกันตลิ่งที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จ (หรือถนนกลางแม่น้ำโขง) ตั้งแต่หน้าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดบึงกาฬ ลงไปจนริมแม่น้ำโขงบ้านนาโนน ม.4 ต.บึงกาฬ ระยะทางยาวกว่า 3 กิโลเมตรต้องจมน้ำ เห็นเพียงโครงเหล็กกั้นเท่านั้น จนท.เทศบาลเมืองบึงกาฬ ต้องนำแผงกั้นเหล็กมาตั้งแจ้งเตือนประชาชน งดใช้ถนนแลนด์มาร์กจนกว่าน้ำจะลดลง
ส่วนที่แคมป์คนงานก่อสร้างถูกน้ำท่วมเห็นเพียงหลังคา ผู้รับเหมาต้องขนย้ายเครื่องมือเครื่องจักรขึ้นมาไว้บนที่สูงเพื่อป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วม ขณะที่การก่อสร้างสะพานและเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง ในพื้นที่บ้านนาโนน ม.4 ต้องหยุดชะงักในทันที เพราะถูกน้ำท่วมไม่สามารถทำการก่อสร้างได้
นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ไม่เพียงแต่ในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬเท่านั้น ที่เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ ฝั่ง สปป.ลาว ประเทศเพื่อนบ้าน พื้นที่การเกษตรไร่นาก็ถูกน้ำท่วมเหมือนกัน ซึ่งดูได้จากภาพมุมสูงที่ถ่ายจากหน้าเทศบาลเมืองบึงกาฬ.