ปชป. ปลดแอกจากทุนการเมืองพร้อมเปิดพรรคกว้างสร้างพื้นที่ประชาชน

“อลงกรณ์“ตอบโจทย์วันนี้ประชาธิปัตย์ยังไม่มีมติร่วมรัฐบาล แจงยุทธศาสตร์ใหม่ปชป. ปลดแอกจากทุนการเมืองพร้อมเปิดพรรคกว้างสร้างพื้นที่ประชาชน

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัวเกี่ยวกับประเด็นปมสมาชิกบางคนวิจารณ์พรรคในทางลบว่าไม่พัฒนาและไม่เห็นด้วยที่พรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมรัฐบาลซึ่งกำลังเป็นที่จับตาช่วงการฟอร์มรัฐบาลในขณะนี้ โดยมีข้อความว่า

“….ผมอ่านข่าวสมาชิกพรรคและอดีตสมาชิกพรรค 4-5 คนแสดงความเห็นไม่ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย บางท่านวิจารณ์พรรคว่าไม่ได้พัฒนาตัวเองย่ำเท้าอยู่กับที่ ซึ่งในด้านหนึ่งผมดีใจที่แต่ละท่านยังสนใจและมีความห่วงใยในพรรคประชาธิปัตย์ แต่อีกด้านก็ไม่สบายใจที่มีการใช้ถ้อยคำด้อยค่าพรรคประชาธิปัตย์ทั้งที่ไม่เคยมาช่วยพรรคทำงานในยามที่พรรคตกต่ำจึงขอทำความเข้าใจในส่วนการพาดพิงพรรคประชาธิปัตย์เกี่ยวกับอุดมการณ์ การพัฒนาพรรคและการร่วมรัฐบาล ดังนีั
1.พรรคประชาธิปัตย์ยังคงยึดมั่นปฐมอุดมการณ์ของพรรคและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2.พรรคประชาธิปัตย์ได้ดำเนินการปรับปรุงสำนักงานใหญ่ ระบบบริหารจัดการและสถานที่ทำงานให้ทันสมัยมากขึ้น
โดยเฉพาะการพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อการบริหารพรรคและการบริการประชาชน เช่น การจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยี่นวัตกรรมเพื่อการสื่อสาร การรับสมัครสมาชิกพรรคแบบออนไลน์ การยกระดับการสื่อสารทุกโซเชียลแพลตฟอร์ม
3.มีการจัดทำยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์เป็นครั้งแรกโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ขณะนี้ยกร่างยุทธศาสตร์ฯ.เสร็จแล้ว
4.ลดอิทธิพลของนายทุนการเมืองและการทุจริตในระบบการเมืองฉ้อฉลโดย
หัวหน้าพรรคแต่งตั้งคณะกรรมการ001ทำหน้าที่รณรงค์ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอุดหนุนเงินภาษีให้พรรคประชาธิปัตย์เพื่อเป็นพรรคการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง
5.เปิดพรรคกว้างสร้างพื้นที่ของประชาชนตามนโยบายโอเพ่นเฮ้าส์(Open House)โดยเปิดพรรคจัดกิจกรรม“ลานพระแม่
ฟอรั่ม”และ“เดโมแครต ฟอรั่ม”ที่พรรคประชาธิปัตย์และในภูมิภาคด้วยระบบออนไลน์และอินไซท์
6.ยกระดับความเป็นสถาบันทางการเมืองด้วยการจัดตั้ง“เดโมแครต อะคาเดมี่”(Democrat Academy)โดยเริ่มโครงการหลักสูตรผู้บริหารการเมืองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่การเมืองที่สุจริตมีประสิทธิภาพและก้าวหน้าทันสมัยจะเริ่มต้นรุ่นแรกในเดือนตุลาคมนี้
สุดท้ายเป็นประเด็นเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลมีการวิเคราะห์คาดเดาไปต่างๆนานาว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน
คำตอบอยู่ที่มติของที่ประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรคและส.ส.พรรค
จนถึงวันนี้ยังไม่มีการประชุมใดๆ
สำหรับวันข้างหน้าไม่ว่าพรรคจะมีมติอย่างไร
ผมและสมาชิกพรรคถือปฏิบัติเช่นเดียวกับท่านชวนคือเคารพมติพรรคไม่ว่าจะมีความเห็นพ้องหรือเห็นต่างเมื่อมีมติพรรคก็จบ นี่คือความเป็นประชาธิปไตยในพรรคของเรา.

อลงกรณ์ พลบุตร
รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์
22 สิงหาคม 2567 “

 

Related posts