ฝนกระหน่ำหนัก 9 จังหวัดภาคเหนือวิกฤติ พืชสวนไร่นาเสียหายยับ

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567‘ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ได้สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมทั้งประเทศ ปัจจุบันมีพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน พิษณุโลก แพร่ อุดรธานี บึงกาฬ นครพนม และสุพรรณบุรีจากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำยม-น่าน เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 22 ส.ค. 67 เวลา 10.00 น.) ที่สถานีวัดน้ำยม Y.20 อ.สอง จ.แพร่ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,500 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเริ่มลดลง โดยปริมาณน้ำจะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง ที่สถานีวัดน้ำ Y1C บ้านน้ำโค้ง อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตรา 1,008 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำเริ่มล้นตลิ่งบางแห่ง

ในขณะที่สถานีวัดน้ำ Y14A อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 640  ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งกรมชลประทานได้เฝ้าระวังพร้อมควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) ก่อนจะไหลผ่านตัวเมืองให้อยู่ในอัตรา 540 ลบ.ม./วินาที ด้วยการใช้รับน้ำส่วนหนึ่งผ่านประตูระบายน้ำหกบาท ลงสู่แม่น้ำน่านและแม่น้ำยมสายเก่า ก่อนจะผันไปเก็บไว้ที่พื้นที่หน่วงน้ำทุกบางระกำ ส่วนพื้นที่ด้านท้าย ปตร.หาดสะพานจันทร์ จะใช้คลองและระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง รับน้ำเข้าไปในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อควบคุมปริมาณไหลผ่านสถานี Y.4 อ.เมืองสุโขทัย ไม่ให้เกิน 460 ลบ.ม./วินาที หวังลดผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนในตัวเมืองสุโขทัย

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำน่าน ที่สถานีวัดน้ำ N.64 บ้านผาขวาง อ.ท่าวังผา จ.น่าน ล่าสุดปริมาณน้ำเริ่มลดลง ในขณะที่สถานีวัดน้ำ N.1 สำนักงานป่าไม้ฯ อ.เมืองน่าน และสถานีวัดน้ำ N.13A บ้านบุญนาค อ.เวียงสา ปริมาณน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำทางตอนบนไหลมาสมทบ ส่งผลให้มีน้ำล้นตลิ่งบริเวณ อ.เมืองน่าน และ อ.เวียงสา กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ภาพรวมสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำยม-น่าน ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 22 ส.ค. 67) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 45,430 ล้าน ลบ.ม. (60% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 30,907 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 12,420 ล้าน ลบ.ม. (50% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 12,451 ล้าน ลบ.ม. จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนภาคเหนือ และประเทศลาว ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ประกอบกับในช่วงวันที่ 22 – 24 ส.ค. 67 จะมีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบน ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนในช่วงวันที่ 24 – 27 ส.ค. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย จะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่งในระยะนี้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง พร้อมนำข้อมูลการคาดการณ์ปริมาณฝน และปริมาณน้ำท่าจากสถานีโทรมาตร มาวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดและสอดคล้องกับสถานการณ์ มีการจัดจราจรน้ำให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด กำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย จัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องจักรสนับสนุนอื่น ๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่เสี่ยง ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

ตลอดจนบูรณาการร่วมกับจังหวัด องค์กรปกครองท้องถิ่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูฝนปี 67 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

 

Related posts