กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปอศ. จับกุมกลุ่มผู้ต้องหาตามหมายจับเครือข่ายหลอกลงทุน Forex จำนวน 3 ราย
1.น.ส.อภิญญา (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 3847 /2567 ลง 19 สิงหาคม 2567
2.นายรัฐรุจน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 43 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 3849/2567 ลง 19 สิงหาคม 2567
3.น.ส.ประภากร (สงวนนามสกุล) อายุ 41 ปี หมายจับศาลอาญาที่ 3850/2567 ลง 19 สิงหาคม 2567
พร้อมด้วยของกลาง
1.สมุดบัญชีธนาคาร จำนวน 10 เล่ม 2.บัตรเอทีเอ็ม จำนวน 6 ใบ 3.โทรศัพท์มือถือ จำนวน 6 เครื่อง 4.แท็บเลต จำนวน 2 เครื่อง 5.โน้ตบุ๊ค จำนวน 2 เครื่อง
ตรวจยึดทรัพย์สิน
1.Louis Vuitton กระเป๋าสะพายใบเล็กสีขาว จำนวน 1 ใบ 2.Louis Vuittonกระเป๋าสะพายสีเทา จำนวน 1 ใบ 3.Louis Vuittonกระเป๋าสะพายใบเล็กสีชมพู จำนวน 1 ใบ
4.Louis Vuitton กระเป๋าสะพายใบเล็กสีขาวครีม จำนวน 1 ใบ 5.Louis Vuittonกระเป๋าสะพายใบใหญ่สีน้ำตาล จำนวน 1 ใบ 6.Dior กระเป๋าสะพายใบเล็กสีกรม จำนวน 1 ใบ 7. Hermes เข็มขัดหนังสีดำ จำนวน 1 ใบ 8.รถยนต์สปอร์ตยี่ห้อ โลตัส จำนวน 1 คัน 9.รถยนต์ยี่ห้อ BMW จำนวน 1 คัน 10.ทองคำแท่ง จำนวน 2 แท่งน้ำหนักรวม 7.5 บาท
มูลค่ารวมประมาณ 6,000,000 บาท
ฐานความผิด ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
เนื่องด้วยประมาณ เดือน ม.ค.67 กลุ่มผู้เสียหายจำนวน 16 ราย ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ กับพนักงานสอบสวนกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เนื่องจาก ถูกอินฟลูเอนเซอร์ TIKTOK ชื่อ YUKI เทรนเนอร์สาวขวัญใจชาวโซเชี่ยลซึ่งมียอดผู้ติดตามกว่า 1 ล้านราย ชักชวนให้ร่วมลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (FOREX) เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายกว่า 6 ล้านบาท จากการสืบสวนสอบสวนทราบว่า บัญชีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มโซเชี่ยลมีเดีย TIKTOK ชื่อ YUKI คือ น.ส.อภิญญาฯ ซึ่งเป็นอินฟลูเอนเซอร์ด้านการออกกำลังกาย มียอดผู้ติดตามจำนวนมากทางโซเชียลมีเดียกว่า 1 ล้านราย ได้ ชักชวนให้ร่วมลงทุนเทรด FOREX ผ่านแอพพลิเคชัน TIKTOK, INSTAGRAM, YOUTUBE, LINE FACEBOOK โพสต์ชักชวนลงทุน ในเว็บไซต์บริษัท WWW.SULFVER.COM โดยอ้างว่าเป็นแพลตฟอร์มการลงทุนของประเทศอังกฤษให้
ผลตอบแทนสูงเฉลี่ยร้อยละ 84-96 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อสนใจร่วมลงทุน จะมีการส่งรายละเอียดและคลิปเสียงแนะนำการลงทุน ผ่านโปรแกรมซูม (ZOOM) จากการตรวจสอบพบว่าคดีนี้มีผู้ร่วมกระทำความผิดในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ ได้แก่ นส.อภิญญาฯ, นายรัฐรุจน์ฯ, น.ส.ประภากรฯ, นายศิวัชฯ เป็นผู้ชักชวนลงทุน ผ่านเว็บไซต์ SULFVER.COM และให้โอนเงินไปลงทุนผ่านบัญชีธนาคาร นายสันติสุขฯ โดยช่วงแรกของการลงทุนผู้เสียหายได้รับผลตอบแทนตามที่โฆษณาจริง แต่ต่อมาไม่มีการจ่ายผลตอบแทนและเว็บไซต์ได้ปิดตัวลง จากการตรวจสอบพบว่าเว็บไซต์ดังกล่าวไม่มีอยู่จริง และบริษัท SULFVER ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งไม่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)
พนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติหมายจับผู้ต้องหา ทั้ง 5 ราย และจากการตรวจสอบพบว่านายศิวัชฯ และนายสันติสุขฯ ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนอยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำทั้งสองราย ต่อมาในวันที่ 20 ส.ค. 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน กก.4 บก.ปอศ.ได้นำหมายค้นเข้าตรวจค้นจำนวน 3 จุดในพื้นที่ กทม. และจังหวัดนครปฐม โดยสามารถจับกุม น.ส.อภิญญาฯ ได้ที่คอนโดหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านบางซื่อ กทม. จับกุมนายรัฐรุจน์ฯ ได้ที่คอนโดหรูย่านรัชโยธิน และจับกุม น.ส.ประภากรฯ ได้ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใน อ.สามพราน จ.นครปฐม พร้อมของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิด และตรวจยึดทรัพย์สินมีค่าจำพวกรถยนต์หรูจำนวน 2 คัน สินค้าแบรนด์เนม จำนวน 7 รายการ มูลค่ารวมประมาณ 6,000,000 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 3 รายนำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ.ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
จากการสอบถามคำให้การ ผู้ต้องหาทั้งสามรายให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่รับว่าได้ชักชวนผู้เสียหายลงทุนจริง
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ขอเตือนภัยถึงพี่น้องประชาชน อย่าหลงเชื่อการลงทุนซื้อขายเงินตราต่างประเทศหรือเทรด (Trade) ค่าเงิน (FOREX หรือ FX หรือ Foreign Exchange) โดยอ้างว่าจะให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศต้องทำกับผู้ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น เช่น ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อของผู้ได้รับใบอนุญาตได้ทางเว็บไซต์ของ ธปท. (www.bot.or.th) ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่เคยให้ใบอนุญาตแก่บุคคลหรือนิติบุคคลที่ไม่ใช่ธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ในการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศทางอินเทอร์เน็ตแต่อย่างใด