ปี’67เร่งยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรหม่อนไหม“กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้หมด”

พันจ่าเอกประเสริฐ มาลัย อธิบดีกรมหม่อนไหม เผยว่า นโยบายในปี 2567 จะเน้นการขับเคลื่อนงานด้านหม่อนไหม พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรหม่อนไหมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกษตรกรต้อง “กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้หมด” โดยพุ่งเป้าไปที่การให้ความสำคัญกับต้นน้ำ โดยส่งเสริมให้เกิดเกษตรกรรายใหม่ให้ได้ไม่น้อยกว่า 1,000 ราย และฟื้นฟูเกษตรกรหม่อนไหมรายเดิม โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในพื้นที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. และคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)

ขณะเดียวกันส่งเสริมและพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์หม่อนไหมและเส้นไหมให้ได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ส่งเสริมให้ผลิตเส้นไหมและผ้าไหมให้มีคุณภาพ และเพียงพอต่อกับความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทาน พร้อมกันนี้ก็เร่งเพิ่มประสิทธิภาพปัจจัยการผลิตพันธุ์หม่อน ไข่ไหม ให้มีคุณภาพมีผลผลิตสูง เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลง และเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร พร้อมไปกับพัฒนา/ปรับปรุงพันธุ์หม่อน พันธุ์ไหม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าหม่อนไหม

นอกจากนี้ยังสนับสนุน และขยายผลโครงการพระราชดำริด้านหม่อนไหมไปสู่ชุมชน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และประกอบอาชีพในถิ่นฐานของตนเอง รวมถึงส่งเสริมและแสวงหาตลาดผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม ให้แพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ พร้อมไปกับสร้างผ้าไหมให้เป็นสินค้ามูลค่าสูง และนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเกษตรกร โดยใช้หลัก “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”

สำหรับ “ตลาดนำ” จะจับมือกับภาคเอกชน ส่งเสริมการทำเกษตรพันธสัญญา ระหว่างเกษตรกรและผู้รับซื้อ เพื่อให้เกษตรกรมีตลาดที่แน่นอน ควบคู่กับเร่งสร้างเกษตรกรรายใหม่ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเส้นไหม/รังไหม และเชื่อมโยงตลาดเฉพาะ อาทิ สถาบันเสริมความงาม โรงพยาบาล อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์

ส่วน “นวัตกรรมเสริม” จะพัฒนา/ปรับปรุงพันธุ์หม่อนไหม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มมูลค่า และให้บริการแก่เกษตรกรได้อย่างเพียงพอ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พร้อมใช้ ผ่านกระบวนการจัดการความรู้ และพัฒนาอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และรองรับเกษตรกรสูงวัย ขณะเดียวกันก็วางแผนผลิตไหมวัยอ่อนให้เกษตรกร เพื่อลดเวลาและแรงงาน

ส่วน “เพิ่มรายได้” จะสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรมีทางเลือกใหม่ๆ โดยการขยาย Value Chain ของสินค้าหม่อนไหม เชื่อมโยงผลิตภัณฑ์แปรรูปกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาคบริการ ประสานความร่วมมือกับจังหวัด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการเชื่อมโยงสินค้าและผลิตภัณฑ์หม่อนไหมกับเส้นทางการท่องเที่ยว.

Related posts