ม.เกริก เข้าเยี่ยมคารวะแสดงความยินดีท่านจุฬาราชมนตรี พร้อมสานต่อโครงการทุนการศึกษาเพื่อยกระดับการศึกษาของมุสลิมไทย
เมื่อวันพุธที่ 17 มกราคม 2567 เวลา 13.00 น. ที่ผ่านมา วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.จรัญ มะลูลีม รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศและคณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมแสดงความยินดีกับท่านอาจารย์อรุณ บุญชม เนื่องในโอกาสได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี และพร้อมกันนี้ ได้จัดทำพิธีรับมอบทุนการศึกษา โครงการทุนจุฬาราชมนตรี ประจำปีการศึกษา 2567 จำนวน 250 ทุน ณ สำนักจุฬาราชมนตรี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร
ศาสตราจารย์ ดร.จรัญ มะลูลีม ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อท่านจุฬาราชมนตรี โดยแสดงให้เห็นการทำงานร่วมกันของสถาบันทางการศึกษากับองค์กรศาสนาอิสลามมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านอาจารย์อรุณ บุญชม เป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการช่วยเหลือและในการสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาการบริหารธุรกิจอิสลามของวิทยาลัยฯ เป็นอย่างดีเสมอมา ในขณะที่อาจารย์สราวุฒิ และซัน รองคณบดีฝ่ายบริหารและนิเทศน์สัมพันธ์ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการมอบทุนจุฬาราชมนตรีและความสำคัญของการจัดตั้งทุน
โดยได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า “โครงการทุนจุฬาราชมนตรีนั้น เป็นทุนสืบเนื่องและได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งในปีการศึกษา 2567 นี้ เป็นปีที่ 4 ที่ทางผู้บริหาร มหาวิทยาลัยเกริก ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก ร่วมกับสำนักจุฬาราชมนตรี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนทุนการศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพนักศึกษามุสลิมให้ก้าวทันโลก มีความเชี่ยวชาญ มีการบูรณาการด้านวิชาการทั้งในด้านศาสนาและสามัญ และในปัจจุบันนี้ วิทยาลัยฯ มีนักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี จำนวน 260 คน ปริญญาโท จำนวน 70 คน และปริญญาเอก จำนวน 20 คน”
ทั้งนี้ โครงการทุนจุฬาราชมนตรี จะมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่มเป้าหมาย คือ 1. ทุนพัฒนาด้านการเงินอิสลาม 2. ทุนพัฒนาด้านอุตสหกรรมฮาลาล 3. ทุนพัฒนาด้านการจัดการบริการฮัจญ์และอุมเราะห์ 4. ทุนส่งเสริมพัฒนานักศึกษามุวัลลัด และ 5. พัฒนาส่งเสริมด้านการศึกษาเด็กกำพร้า อีกทั้ง ทางวิทยาลัยฯ มีความมุ่งเน้นที่จะพัฒนาเครือข่าย เพื่อยกระดับนักศึกษาและสถาบันสู่ความเป็นนานาชาติ อย่างแท้จริง
นอกจากการขับเคลื่อนเพื่อสร้างโอกาสให้กับเยาวชนมุสลิมไทยในการให้เข้ามาศึกษาในระดับอุดมศึกษาแล้ว วิทยาลัยฯ ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาเครือข่ายด้านวิชาการ โดยอาจารย์ ดร.สมีธ อีซอ ผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจอิสลามมหาบัณฑิต วิทยาลัยนานาชาติอิสลาม ได้กล่าวถึงพันธกิจด้านการพัฒนาและสร้างเครือข่ายกับสถาบันด้านวิชาการในประเทศซาอุดีอาระเบียในด้านการเงินอิสลาม ซึ่งมีความก้าวหน้าร่วมกันคือการศึกษาความเป็นได้ในการจัดตั้งสถาบันการเงินอิสลามในประเทศไทยขึ้น ซึ่งจะเป็นคุณูปการต่อระบบการเงินอิสลามในประเทศไทย และรวมถึงสร้างแหล่งรวมองค์ความรู้การเงินอิสลามที่สำคัญของภูมิภาค
ในขณะที่ อาจารย์ ดร.ปริญญา ประหยัดทรัพย์ ผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจอิสลามดุษฎีบัณฑิต วิทยาลัยนานาชาติอิสลาม ได้กล่าวถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้นักศึกษาได้ปฎิบัติงานจริง โดยนักศึกษาฝึกปฎิบัติงานเอกการจัดการบริการฮัจย์และอุมเราะห์ ได้รับโอกาสฝึกปฎิบัติกับบริษัท มะชาริก เพื่อกิจการฮัจย์ในการดูแลผู้ประกอบการณ์ฮัจย์ในฤดูกาลฮัจย์ที่ผ่านมา นับว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นต่อวิทยาลัยฯ ในการสร้างบุคลากรด้านฮัจย์และอุมเราะห์ในอนาคต
ในตอนท้าย ท่านอาจารย์อรุณ บุณชม จุฬาราชมนตรี ได้กรุณากล่าวให้โอวาทและกล่าวให้กำลังใจแก่คณะบริหาร ตลอดจนเจ้าหน้าที่วิทยาลัยฯ ในความอุตสาหะที่ร่วมกันสร้างสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจอิสลามที่ประสบความสำเร็จและยกระดับเป็นนานาชาติ และยังสร้างโอกาสแก่เยาวชนมุสลิมไทยผ่านโครงการทุนจุฬาราชมนตรี โดยในตอนหนึ่ง ท่านได้กล่าวว่า “ปีนี้ถือเป็นปีที่ 4 สำหรับทุนจุฬาราชมนตรี ถือว่ามีนักเรียนที่ได้รับทุน และได้รับการศึกษาเป็นจำนวนมากจากทางมหาวิทยาลัยเกริก ทางสำนักจุฬาราชมนตรีขอขอบคุณอย่างยิ่ง และขอชื่มชม ความมานะ ความพยายามของคณาจารย์ทุกท่าน ที่ร่วมบุกเบิกสร้างสถาบันการศึกษาให้แก่เยาวชนมุสลิมขึ้นมา”
นับว่าวิทยาลัยนานาชาติอิสลาม มหาวิทยาลัยเกริก ได้รับเกียรติอันสำคัญยิ่งจากจุฬาราชมนตรี ในการร่วมผลักดันการศึกษาของเยาวชนมุสลิมไทยให้ได้รับโอกาสด้านศึกษาอย่างทั่วถึง รวมถึงการได้รับกำลังใจและการชื่นชม วิทยาลัยฯ พร้อมที่จะขับเคลื่อนการสร้างคนให้มีคุณภาพ และสร้างชาติให้มีความสมดุลเพื่ออนาคตของสังคมไทยโดยรวมอีกด้วย