UNFPA มอบรางวัล TikTok Contest 2023 “Empowering our Youth”

กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNFPA Thailand) ร่วมกับ บริษัท เรกคิทท์ (ประเทศไทย) จำกัด และองกรค์ภาคีเครือข่าย จัดงานประกาศผลและมอบรางวัล TikTok Contest “Empowering our Youth” ภายใต้โครงการเสริมพลังเยาวชนเข้าถึงอนามัยการเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัวอย่างทั่วถึงเท่าเทียม (Empowering our Youth: Access to SRHR and Family Planning for All) โดยมี ดร. โอซา ทอคิลส์สัน ผู้อำนวยการ UNFPA กองทุนประชากรแห่งสหประชาติประจำประเทศไทย นายทวีศิลป์ ชัยชนะ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการผู้ทรงวุฒิ และผู้ได้รับรางวัลเข้าร่วมงาน ณ โรงแรมแชงกรี-ลา เชียงใหม่

ดร. โอซา ทอคิลส์สัน (Dr. Asa Torkelsson) ผู้อำนวยการ UNFPA กองทุนประชากรแห่งสหประชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า UNFPA และหน่วยงานพันธมิตรที่ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมเพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่จุดหมายให้ทุกการตั้งครรภ์เป็นที่ต้องการ ทุกการคลอดมีความปลอดภัย และเยาวชนทุกคนได้เข้าถึงศักยภาพอันสูงสุด โดยหนึ่งในกิจกรรมที่สามารถสื่อสารวัตถุประสงค์ของ UNFPA และเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้อย่างกว้างขวางคือกิจกรรม TikTok Contest “Empowering our Youth” มีผู้สนใจส่งเข้าประกวดกว่า 150 คลิป หลายคลิปมียอดการรับชมรวมกันกว่า 500,000 ครั้งและยอดกด Like สูงมากภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน แสดงให้เห็นถึงพลังของเยาวชนที่ต้องบอกว่าทุกคนล้วนแล้วแต่คือผู้ชนะเพราะเนื้อหาที่ได้ผลิตออกมานั้นอาจสามารถช่วยชีวิตผู้คนและส่งเสริมให้ใครอีกหลายคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ดร. โอซา กล่าวต่อว่า ในนามของ UNFPA ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศ ขอแสดงความมั่นใจว่านี่คือบันทึกหน้าสำคัญที่สามารถให้ประเทศอื่นใช้เป็นแบบอย่างได้ เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าการเข้าถึงวัยรุ่นนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถนำพาเราไปสู่ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จได้ ทั้งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมกันเสริมพลังเยาวชนโดยให้เครื่องมือสื่อสารที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นด้านข้อมูล ความรู้ เทคนิค และทักษะต่างๆ ร่วมกับความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่พวกเขาเหล่านั้นสามารถริเริ่มขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเยาวชนด้วยกัน และเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้กันและกันเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

ดร. โอซา ยังได้อ้างถึงคำกล่าวของ “แอนโตนิโอ กูเตอร์เรส” เลขาธิการสหประชาชาติที่ว่า “เราควรทำให้การมีส่วนร่วมของเยาวชนเป็นธรรมเนียมปฎิบัติมากกว่าเป็นการละเว้น ในทุกการตัดสินใจด้านนโยบายและการลงทุน เยาวชนนั้นคือผู้จุดประกายความหวังว่าเราจะนำโลกใบนี้กลับมาสู่การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้” ดังนั้น UNFPA จึงเชื่อมั่นว่าการเสริมพลังเยาวชนนั้นจะช่วยให้พวกเขาเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้ โดยการมีส่วนร่วมของเยาวชนสามารถช่วยสร้างสังคม การพัฒนาทางเศษฐกิจ ต่อสู้กับความเชื่อและคุณค่าทางสังคมแบบเดิมและช่วยสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับอนาคตของโลกใบนี้

การประกวด TikTok นี้ยังเปิดตัวในช่วงเวลาเดียวกับ 16 วันเพื่อการรณรงค์ยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (16 Days of Activism Against Gender-Based Violence) เราทั้งหลายจึงเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันสร้างโลกที่สงบสุขด้วยการเร่งขยายการเข้าถึงสิทธิและทางเลือกให้แก่เด็กผู้หญิงและผู้หญิงเพื่อโลกที่ปลอดภัย

“ขอบคุณ ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ องกรค์ภาคีเครือข่าย และเรกคิทท์ ผู้ใหญ่ใจดีที่ให้การสนับสนุนเยาวชนให้ได้แสดงศักยภาพและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะหากปราศจากความเข้าใจและโอกาสที่แล้ว เยาวชนจำนวนมากก็อาจมิได้เปล่งประกายแสงดังดวงดาวที่สุกสว่างระยิบระยับอยู่บนฟากฟ้าเช่นนี้ พร้อมกันนี้ก็ขอให้กำลังใจเยาวชนให้ก้าวต่อไป และมีพลังสร้างสรรค์ความอัศจรรย์ใจได้มากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะทุกคนคือผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง” ผู้อำนวยการ UNFPA ประจำประเทศไทยกล่าวย้ำ

ด้าน นางดวงกมล พรชำนิ เจ้าหน้าที่บริหารโครงการ ของ UNFPA สำนักงานประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการเสริมพลังเยาวชนเข้าถึงอนามัยการเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัวอย่างทั่วถึงเท่าเทียม (Empowering our Youth: Access to SRHR and Family Planning for All) เป็นโครงการความร่วมมือของทุกภาคส่วน ได้แก่ UNFPA สำนักงานประเทศไทย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานเขตสุขภาพที่ 1 และ 2 บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์วัยรุ่นระดับจังหวัด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยและจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย มูลนิธิรักษ์ไทย กลุ่มวัยใส กลุ่มพลังโจ๋ เครือข่ายเยาวชน ผู้นำชุมชน และบริษัท เรกคิทท์ (ประเทศไทย) ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของเยาวชนและการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนสู่ความยั่งยืน โครงการเริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี พ.ศ ๒๕๖๕ และจะสิ้นสุดในปี ๒๕๖๙ ปัจจุบันมีเยาวชนได้รับประโยชน์จากโครงการประมาณหนึ่งแสนคน

ผลการประกวด TikTok Contest “Empowering our Youth” มีผู้ได้รับรางวัลในสาขาต่างๆ ได้แก่ รางวัลประเภทบุคคล The Best of the Best ได้แก่ นางสาวพัชญ์ชิสา พิมุน ประเภทเนื้อหายอดเยี่ยม The Best of Content รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายชยพล รัตนาวรรณกร รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ด.ช.ศิริเทพ ชัยชื่น และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นางสาวแสงหอม ลุงซอยะ ประเภทความคิดสร้างสรรยอดเยี่ยม The Best of Creative ชนะเลิศ ได้แก่ ด.ญ.ธัญญารัตน์ ขัดสาร รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายสิริราช ยานะ และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นายชยพล รัตนาวรรณกร ประเภทการเล่าเรื่องยอดเยี่ยม The Best of Storytelling ชนะเลิศ ได้แก่ นายสิริราช ยานะ รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นางสาววนารี ญานะ และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ด.ช.ธนกฤต สมศรี ประเภทถ่ายทำ เทคนิคตัดต่อยอดเยี่ยม The Best of Production รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวแสงหอม ลุงซอยะ รองชนะเลิศอันดับ 1 ด.ญ.ธัญญารัตน์ ขัดสาร และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ด.ญ.ศศิวิมล และ ประเภท Popular Vote ชนะเลิศ ได้แก่ ด.ญ. ธัญญารัตน์ ขัดสาร ส่วน รางวัลประเภททีม ประเภทเนื้อหายอดเยี่ยม The Best of Content ชนะเลิศ และประเภท Popular Vote ชนะเลิศ ได้แก่ นายชัยรัตน์ ดิ๊ผอ นางสาวกานต์ชนิต ปู่นำ และนางสาวชุติมา คำหล้า

ทั้งนี้ โครงการเสริมพลังเยาวชนเข้าถึงอนามัยการเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัวให้ทั่วถึงอย่างเท่าเทียม (Empowering our Youth Project , Access to Sexual and Reproductive Health and Rights, and Family Planning for All) ได้รับการสนับสนุนจากทางบริษัท Reckitt และ UNFPA ประเทศไทย (เริ่มปี 2022-2026) เพื่อส่งเสริมพลังวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ให้มีทักษะและ ศักยภาพในการดูแลสุขภาพทางเพศของตนเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุตาม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ในเป้าหมายที่ 3 ว่าด้วยการมีสุขภาวะในการดำรงชีวิต และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ และเป้าหมายในข้อที่ 5 ว่าด้วยการบรรลุถึงความเท่าเทียมทางเพศและเสริมสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กหญิงทุกคน โดยเน้นวัยรุ่นกลุ่มอายุ 15 – 19 ปี และในกลุ่มเปราะบางและผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ 15 – 49 ปี โดยทำงานในพื้นที่ภาคเหนือ (จ.แพร่ และ จ.เชียงใหม่) เนื่องด้วยมีความหลากหลายของประชากรสูง โดยเฉพาะความเป็นกลุ่มแรงงานในเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ และพื้นที่เข้าถึงยากของแต่ละจังหวัด ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://thailand.unfpa.org/th

Related posts