“ธนาธร” ยืนยัน ไม่เห็นด้วยต้องกู้ 5 แสนล้าน เพื่อมาใช้กับดิจิทัลวอลเล็ต มอง สภาวะเศรษฐกิจไม่ได้วิกฤติจนต้องอัดเงินเข้าสู่ระบบในครั้งเดียว
เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2566 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เปิดเผยภายหลังบรรยายสาธารณะ หัวข้อ “ประเทศไทยควรได้อะไร หากต้องใช้ 5 แสนล้าน”ว่าวัตถุประสงค์บรรยายวันนี้อยากให้สังคมได้แลกเปลี่ยนถกเถียงกันว่าภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด เราจะเอาไปใช้ทำอะไร จึงได้เสนอทางเลือกเป็นอาหารสมองให้กับสังคม หวังว่าสิ่งที่พูดไปวันนี้จะถูกนำไปแลกเปลี่ยนถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง และคิดว่าจะเป็นผลดีต่อประชาธิปไตย ที่สำคัญส่วนตัวเห็นว่าประเทศไทยวันนี้ไม่ได้มีวิกฤติเศรษฐกิจ แน่นอนว่าเศรษฐกิจอาจจะไม่ดี แต่ก็ยังเติบโตอยู่ ถ้าจำเป็นที่จะต้องกู้เป็นจำนวนเงินถึง 5 แสนล้าน ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
ขณะที่คำถามว่า การกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อมาใช้กับดิจิทัลวอลเล็ต ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนใช่หรือไม่ นายธนาธร ย้ำคำตอบว่า ไม่มีความจำเป็น ก่อนจะเลี่ยงตอบเมื่อถูกถามเรื่องการรอคณะกรรมการกฎษฎีกาตีความว่า เรื่องนี้ตนเองไม่แม่น ขอให้ถามพรรคก้าวไกลน่าจะดีกว่า แต่ส่วนตัวคิดว่าไม่จำเป็น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่หนักมาก เรากู้ 1.5 ล้านล้านบาท ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งวันนี้หนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะสูงมาก ส่วนตัวคิดว่าเกิดจากขีดความสามารถการแข่งขันประเทศ เราไม่มีการลงทุนอย่างเพียงพอที่จะทำให้ประเทศแข่งขันได้ ถ้าหากต้องการให้ไทยแข่งขันได้ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า จำเป็นต้องลงทุนเรื่องการสร้างความสามารถในการแข่งขันตั้งแต่วันนี้ ส่วนสถานะทางเศรษฐกิจยืนยันอีกครั้ง เราไม่คิดว่าจะมีความจำเป็นต้องกู้ถึง 5 แสนล้านบาท
“อย่างที่บอกเรามองคนละมุม ผมมองว่าสถานะทางเศรษฐกิจไม่ได้วิกฤติขนาดที่จำเป็นต้องกู้ ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยเองก็บอกว่าสภาวะเศรษฐกิจมันสาหัสมากแล้ว จำเป็นต้องกู้ ซึ่งจริงๆ กู้ในงบประมาณแผ่นดินก็ได้ กู้อยู่แล้วในงบประมาณปกติ ปีนี้ก็กู้อยู่แล้ว พอมันมองคนละจุดมันก็พูดกันลำบาก ผมก็เสนอว่าถ้ามี 5 แสนล้าน เป็นผมจะเอาไปทำสิ่งต่างๆ ที่นำเสนอไป ส่วนพรรคเพื่อไทยจะเอาไปใช้หรือไม่ใช้อย่างไร ก็คงเป็นสิทธิ์ของพรรคเพื่อไทย แต่ถ้าเกิดต้องการจะนั่งพูดคุยกันถึงความเป็นไปได้ที่จะนำสิ่งต่างๆ เหล่านี้นำไปใช้ ด้วยความยินดีเลยครับ ผมเชื่อว่าสิ่งต่างๆ ที่นำเสนอไปเป็นประโยชน์กับประชาชน และพร้อมพูดคุย”