“อลงกรณ์” นำทีมเกษตรลุยอีสานผนึกเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดแก้ปัญหาผลกระทบภาคเกษตรและประมงจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของแม่น้ำโขง

“อลงกรณ์” นำทีมเกษตรลุยอีสานผนึกเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดแก้ปัญหาผลกระทบภาคเกษตรและประมงจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของแม่น้ำโขง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อภาคการเกษตรและประมงจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของแม่น้ำโขง ครั้งที่ 1/2566 (เฉพาะกิจ) และติดตามผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาด้านการเกษตรและด้านประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ.2566 – 2570 ณ โรงแรมบลู โฮเทล นครพนม จ.นครพนม ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการดำเนินงานโครงการที่เกี่ยวข้องและขับเคลื่อนแผนพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2566 – 2570 ประกอบด้วย 2 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง และแนวทางที่ 2 การบริหารจัดการด้านการประมงและทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืนและคงความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (AIC) ประจำจังหวัด ภาคประชาชน และหน่วยงานในพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำโขง

สำหรับการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งนี้นับเป็นการประชุมเฉพาะกิจนอกพื้นที่ครั้งแรกร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ/กิจกรรม ด้านการประมงและด้านการเกษตร แบ่งเป็น ด้านการประมง รวมจำนวน 31 โครงการ งบประมาณทั้งสิ้น 13,012,140 บาท พื้นที่ดำเนินการ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี อาทิ โครงการการจัดการระบบนิเวศปลาหน้าวัด, โครงการธนาคารผลผลิตเกษตรด้านการประมงสนับสนุนธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม, กิจกรรมส่งเสริมเยาวชนนักเพาะเลี้ยง, โครงการเพาะพันธุ์ปลายี่สกไทย (ปลาเอิน) ในแม่น้ำโขง เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่แม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา, โครงการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงปลาตะเพียนขาวในบ่อดิน เป็นต้น สำหรับด้านการเกษตร สำนักแผนงานและโครงการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สป.กษ.) ได้สรุปแผนงาน/โครงการภายใต้แผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนระดับจังหวัด ปี 2566 – 2570 (ฉบับทบวน) รวมจำนวน 794 โครงการ งบประมาณทั้งสิ้น 7,770,595,287 บาท แบ่งเป็น งบจังหวัด/กลุ่มจังหวัด 304 โครงการ งบประมาณ 1,124,048,495 บาท งบปกติ 375 โครงการ งบประมาณ 6,600,923,240 บาท และงบอื่น ๆ 70 โครงการ งบประมาณ 45,623,552 บาท โดยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาบรรจุแผนงาน/โครงการไว้ในคำของบประมาณประจำปีของหน่วยงานต่อไป

ที่ประชุมยังได้หารือและรับทราบในเรื่องอื่น ๆ ได้แก่
1. แนวทางการดำเนินการรักษาพันธุ์ปลาบึกในแม่น้ำโขง โดยกรมประมง ซึ่งมี 2 แนวทาง ดังนี้ 1.1) การอนุรักษ์นอกถิ่นแม่น้ำโขง โดยการปล่อยลงในแหล่งน้ำภายในประเทศ ซึ่งกรมประมงจะใช้แม่พันธุ์ปลาบึกรุ่น F1 เพื่อผลิตปลาบึกรุ่น F2 ที่ยังคงความหลากหลายทางพันธุกรรมและยังคงสามารถรักษาไว้ได้จากเดิมให้มากที่สุด โดยปลาบึกรุ่นลูก F2 นี้ สามารถนำไปเลี้ยงไว้ในอ่างเก็บน้ำเพื่อเป็นการนกษาพันธุ์ปลาลึกไว้นอกแหล่งที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์เพื่อการเพาะเลี้ยงต่อไปได้ในอนาคต และ 1.2) สนับสนุนการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ให้แก่เกตรกร เนื่องจากปลาบึกมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง
2. ความก้าวหน้าการดำเนินการของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาการเกษตรในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนทบทวนแผนพัฒนาการเกษตร ในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน โดย สำนักแผนงานและโครงการพิเศษ สป.กษ. ได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 8 จังหวัด รับทราบและดำเนินการตามแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ.2566 – 2570 และแผนพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2566 – 2570 แล้ว
3. ความก้าวหน้าการศึกษาพลับพลึงแม่น้ำโขงและแผนการนำพลับพลึงแม่น้ำโขงกลับไปปลูกคืนถิ่นเดิม โอกาสนี้ นายอลงกรณ์ ได้มอบต้นพันธุ์พลับพลึงแม่น้ำโขง (Crinum viviparum) (ที่เพาะพันธุ์จากเมล็ด) ซึ่งถือเป็นพืชเฉพาะถิ่นหายาก และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จำนวน 30 ต้น ให้แก่ นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ผู้แทนสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสานและ1จังหวัดภาคเหนือคือเชียงรายเพื่อนำไปจัดกิจกรรมให้ชุมชนในการปลูกในพื้นที่อาศัยเดิม ตำบลหาดคัมภีร์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย ตามแผนการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุ์พลับพลึงแม่น้ำโขงของกรมประมงที่ทำการเก็บรวบรวมตัวอย่างต้นพันธุ์จากธรรมชาติ ตั้งแต่ปี 2564 และนำไปศึกษาเพาะเลี้ยงในระบบโรงเรือน และห้องปฏิบัติการจนได้ต้นพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ในปัจจุบัน

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันและสนับสนุนการพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติสร้างความมั่นคงด้านอาชีพ พัฒนาขีดความสามารถในทุกด้าน เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนและเกษตรกร และคงความหลากหลายของทรัพยากรประมงในแม่น้ำโขงได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายอลงกรณ์ กล่าว

ในการลงพื้นที่จังหวัดนครพนมในครั้งนี้ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ พร้อมคณะ ได้ร่วมกิจกรรมปล่อยพันธุ์ปลายี่สกไทยและพันธุ์ปลาหายากใกล้สูญพันธุ์ลงสู่แม่น้ำโขง จำนวน 60,000 ตัว ภายใต้แผนการดำเนินโครงการเพาะพันธุ์ปลายี่สกไทย (ปลาเอิน) ในแม่น้ำโขง เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่แม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา และในปี 2566 กรมประมงได้ตั้งเป้าการผลิตลูกพันธุ์ปลายี่สกไทยให้ได้จำนวน 2 แสนตัว เพื่อปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จากนั้น พบปะกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ปลานิลแม่น้ำโขงอำเภอท่าอุเทน ณ โรงแรมชีวาโขง อ.เมือง ก่อนเดินทางตรวจเยี่ยมกลุ่มแปลงใหญ่ปลาสวายโมงในกระชังในแม่น้ำโขง ชุมชนบ้านอาจสามารถ อ.เมือง ตลอดจนเยี่ยมชมการสาธิตการเก็บน้ำเชื้อปลายี่สกไทย เพื่อเป็นแนวทางในการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำหายากใกล้สูญพันธุ์ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครพนม

นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมถึงการลงพื้นที่ในครั้งนี้ว่า นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ในการเตรียมน้ำเชื้อปลาเพศผู้และเก็บรักษาน้ำเชื้อด้วยวิธีการแช่แข็ง โดยเจ้าหน้าที่จากกองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมประมงในพื้นที่สามารถสร้างแหล่งธนาคารน้ำเชื้อ ในการเก็บรวบรวม และนำน้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์ปลาที่สมบูรณ์เพศไปใช้ในการผสมเทียมเพื่อขยายพันธุ์ในอนาคต ซึ่งในปลาบางชนิดโอกาสที่จะพบพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์เพศพร้อมกันเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปลายี่สกไทย และปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่พบได้ยาก มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ พร้อมกันนี้ได้มีการจัดสัมมนาสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการชุมชนเพื่อการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่แม่น้ำโขง ให้แก่ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่หน่วยงานกรมประมง และคณะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัด ในระหว่างวันที่ 8 – 10 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาสามารถนำแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรประมงไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชนของตนได้อย่างเหมาะสม พร้อมนี้ได้นำคณะฯ ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ โครงการธนาคารสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วมแหล่งน้ำหนองพัง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2565 สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทเลื่องลือขยายผล ระดับดีเด่น และโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ลูกอ๊อดบ้านหนองแต้ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2563 สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิ์ผลประชาชนมีส่วนร่วม ระดับดีอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง