ฟรุ๊ตบอร์ด เห็นชอบโครงการพัฒนาลำไยอย่างยั่งยืน-บริหารจัดการผลไม้ภาคใต้-ภาคเหนือ1ล้านตัน

ฟรุ๊ตบอร์ด เห็นชอบโครงการพัฒนาลำไยอย่างยั่งยืนพร้อมรับทราบรายงานผลการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้-ภาคเหนือ1ล้านตัน “อลงกรณ์”สั่งเร่งเดินหน้าแผนพัฒนาผลไม้5ปี(2565-2570)รับมือสถานการณ์แข่งขันใหม่ อธิบดีกรมวิชาการชี้แจงย้าย”ขลธี”เป็นการโยกย้ายปกติ ยืนยันไม่มีการแทรแซงจากฝ่ายการเมืองหรือกลุ่มอิทธิพลใดๆ

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุ้ทบอร์ด-Fruit Board)ผ่านระบบการประชุมทางไกล (ZOOM ฝMeeting) โดยที่ประชุมได้เห็นชอบ“โครงการพัฒนาลำไยอย่างยั่งยืน “เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตลำไยในฤดูและนอกฤดู เป็นสัดส่วนร้อยละ 60 : 40 ภายในปี 2567 ตามความต้องการของตลาดสอดคล้องกับแผนพัฒนาผลไม้ไทย ปี 2565 – 2570 และรายงานการศึกษาวิเคราะห์เสถียรภาพกลุ่มสินค้าลำไย รวมทั้งยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตโดยบูรณาการการทำงานเชิงรุกกับทุกภาคส่วนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรสำรวจเกษตรกรที่ต้องการจะเข้าร่วมโครงการ พร้อมกับให้กระทรวงพาณิชย์จัดหาตลาดล่วงหน้า เพื่อรองรับผลผลิตนอกฤดูตามเป้าหมายของโครงการและมอบธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เสนอหลักการและคุณสมบัติเกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการ และอัตราดอกเบี้ยในการเข้าร่วมโครงการ

ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการบริหารจัดการผลไม้ปี 2565 ประจำฤดูกาลผลิตที่ 2/2565 (กรกฎาคม – ตุลาคม) โดยสถานการณ์ลำไย ภาคเหนือ สามารถดำเนินการได้ตามแผนบริหารจัดการ มีผลผลิตรวมทั้งสิ้น 742,563 ตัน แบ่งเป็น กระจายผลผลิตภายในประเทศ จำนวน 138,677 ตัน หรือร้อยละ 18.68 ผ่านวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร Modern Trade ตลาดออนไลน์ และตลาดผลไม้ภายในจังหวัด เป็นต้น อีกทั้งยังมีการแปรรูป ทั้งลำไยอบแห้งทั้งเปลือก ลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง และอื่น ๆ เช่น ลำไยกระป๋อง และน้ำลำไยสกัดเข้มข้น จำนวน 511,434 ตัน หรือร้อยละ 68.87 และส่งออก จำนวน 92,451 ตัน หรือร้อยละ 12.45 สถานการณ์ทุเรียน ภาคใต้ มีปริมาณผลผลิตรวม 328,818 ตัน แบ่งเป็น กระจายภายในประเทศ จำนวน 116,868 ตัน หรือร้อยละ 35.54 การแปรรูป ทั้งแช่แข็ง อบแห้ง ฟรีซดราย กวน และอื่น ๆ จำนวน 18,191 ตัน หรือร้อยละ 5.53 และส่งออก จำนวน 193,760 ตัน หรือร้อยละ 58.93 สถานการณ์มังคุด ภาคใต้ มีปริมาณผลผลิตรวม 19,536 ตัน แบ่งเป็น กระจายภายในประเทศ 15,416 ตัน หรือร้อยละ 78.91 การแปรรูป ทั้งอบแห้ง ฟรีซดราย กวน และอื่น เช่น ไอศกรีม และน้ำมังคุด จำนวน 78 ตัน หรือร้อยละ 0.40 และการส่งออก (ผลสด) จำนวน 4,042 ตัน หรือร้อยละ 20.69 สถานการณ์เงาะ ภาคใต้ มีปริมาณผลผลิตรวม 25,956 ตัน และสถานการณ์ลองกอง ภาคใต้ มีปริมาณผลผลิตรวม 2,007 ตัน ซึ่งมีบริหารจัดการโดยการกระจายภายในประเทศทั้งหมด ผ่านล้งภายในประเทศ วิสาหกิจชุมชน Modern Trade ตลาดออนไลน์ และจำหน่ายถึงผู้บริโภคโดยตรง เป็นต้น

สำหรับความก้าวหน้าโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2564/2565 ฝ่ายเลขานุการ ได้เสนอโครงการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี โดยเสนอแนวทางให้มีขนาดพื้นที่ปลูกรายละไม่เกิน 25 ไร่ ในอัตรา 2,000 บาทต่อไร่ กรอบวงเงิน 3,821.54 ล้านบาท รอการบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบแนวทางการเปลี่ยนรหัสรับรอง GAP รูปแบบใหม่สำหรับผลไม้ส่งออกซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ฉลากติดภาชนะบรรจุผลไม้ 13 ชนิดส่งออกไปจีน จะต้องระบุรหัสรับรอง GAP รูปแบบใหม่เท่านั้น โดยผลไม้ จำนวน 13 ชนิดส่งออกไปจีน ได้แก่ ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด มะม่วง ชมพู่ ขนุน กล้วย สับปะรด มะพร้าว มะขาม เงาะ และส้มโอ ส่วนที่เหลืออีก 9 ชนิด ได้แก่ น้อยหน่า มะละกอ มะเฟือง ฝรั่ง ลองกอง ละมุด เสาวรส ส้มเปลือกล่อน และส้ม (จีนอนุญาตรวม 22 ชนิด) ยังไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนกับจีน จึงยังไม่กำหนดว่าต้องมาจากสวนและโรงคัดบรรจุที่ขึ้นทะเบียนกับจีน

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบข้อเสนอของภาคเอกชนที่จะขยายตลาดและการขนส่งผลไม้จากท่าเรือจังหวัดตราดไปท่าเรือจ้านเจียง (Zhanjang Port) ประเทศจีน โดยใช้เรือขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ปรับอุณหภูมิ ขนาด 300 ตู้ ขึ้นไปจะทำให้มีความคล่องตัวในการขนส่งผลไม้จากภาคตะวันออกไปจีนมากขึ้นและมอบหมายให้ฝ่ายเลขาฯ ประสานงานกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในพื้นที่และส่วนกลางในการศึกษาโครงการดังกล่าว

ส่วนกรณีที่ได้เชิญอธิบดีกรมวิชาการเกษตรมาชี้แจงต่อที่ประชุมถึงการโยกย้ายนายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช จนมีเสียงเรียกร้องจากหลายองค์กรด้านผลไม้นั้น อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ชี้แจงว่าเป็นการโยกย้ายตามฤดูกาล เพราะอยู่ในตำแหน่งผอ.สวพ.6ใกล้ครบวาระ4ปี รวมทั้งอยู่ที่จันทบุรีจังหวัดเดียวมา31ปี เป็นคนมีความรู้ความสามารถมีประสบการณ์สมควรไปทำหน้าที่ใน ตำแหน่งผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืชซึ่งเป็นตำแหน่งหลักที่สำคัญของกรมวิชาการในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในภาพรวมทั้งประเทศไม่ใช่เพียงไม่กี่จังหวัด อธิบดีกรมวิชาการยืนยันว่าไม่มีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองหรือกลุ่มอิทธิพลใดๆและมั่นใจว่าการโยกย้ายดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการขับเคลื่อนงานของฟรุ้ทบอร์ดเพราะผู้อำนวยการสวพ.6คนใหม่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เคยทำงานร่วมกับสวพ.6มากว่า10ปีผ่านงานระดับบริหารหลายตำแหน่งและมีความเชี่ยวชาญด้านมาตรฐานGAPและGMP มีประสบการณ์ที่เหมาะสม เคยทำงานในพื้นที่ภาคตะวันออกมานานเช่นกันโดยเฉพาะ เคยเป็น หัวหน้าด่านตรวจพืช ท่าเรือแหลมฉบังซึ่งเป็น ด่านตรวจพืชที่ใหญ่ที่สุดของกรมวิชาการเกษตร

หลังจากกรรมการฟรุ้ทบอร์ดได้ซักถามเสร็จแล้ว นายอลงกรณ์กล่าวว่า ฟรุ้ทบอร์ทเป็นคณะกรรมการระดับชาติที่ดูและการพัฒนาและยริหารจัดการผลไม้ของประเทศ ไม่มีอำนาจแทรกแซงการบริหารงานบุคลากรของภาครัฐแต่อย่างใด เพียงแต่การโยกย้ายครั้งนี้มีข้อกังวลของหลายฝ่ายและขอบคุณที่อธิบดีกรมวิชาการให้เกียรติมาชี้แจงด้วยตนเอง โดยส่วนตัวมั่นใจในตัวอธิบดีเพราะเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ของกระทรวงเกษตรฯ.ผ่านการทำหน้าที่สำคัญเช่นผู้แทนถาวรไทยประจำองค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO)ที่กรุงโรมเป็นอัครราชทูตที่ปรึกษาการเกษตร ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา เป็นเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นรองปลัดกระทรวงก่อนมาเป็นอธิบดีกรมวิชาการ ก็ขอให้ยึดหลักคุณธรรม ความรู้ความสามารถในการสรรหาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ เพื่อรับผิดชอบการขับเคลื่อนนโยบายของ

ประธานฟรุ้ทบอร์ดคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน การปราบปรามขบวนการสวมสิทธิ์ทุเรียนและการจัดการปัญหาทุเรียนอ่อนซึ่ง3ปีมานี้ทำให้ผลไม้ไทยครองแชมป์ส่งออกไปจีนและทั่วโลกสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า2แสนล้านจากความร่วมมือทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐภาคเอกชนและภาคเกษตรกร

ประธานยังสั่งให้ทุกกลไกภายใต้ฟรุ้ทบอร์ดเร่งเดินหน้าแผนพัฒนาผลไม้2565-2570 เพื่อรับมือสถานการณ์แข่งขันใหม่จากการที่จีนอนุญาตให้เวียดนามส่งออกทุเรียนผลสดไปจีนได้ แม้ประเทศไทยจะครองตลาดทุเรียนผลสดในจีนได้กว่า90%ของมาร์เก็ตแชร์ในตลาดจีนแต่จะต้องรักษาแชมป์และมุ่งสู่ตลาดมูลค่าสูงเป็นก้าวใหม่ต่อไปไม่หยุดยั้ง.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง