แรงกว่าทุกพันธุ์!หมอจุฬาฯ-มหิดลยันโควิด BA.5 หลบภูมิ ดื้อ ติดเชื้อซํ้าง่าย

สองหมอจากจุฬาฯ-มหิดล ประสานเสียง โควิดโอมิครอน BA.5 น่ากลัวกว่าทุกสายพันธุ์ที่เคยมี เหตุเชื้อแข็งแกร่งกว่าที่คิด ดื้อและหลบภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าเดิมทำให้คนติดเชื้อได้ง่ายทั้งติดใหม่และติดซ้ำ พร้อมแนะไม่ต้องรอหายป่วยครบ 3 เดือนถึงฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หลังพบบางรายหายป่วยแค่ 20 วันก็ติดเชื้อซ้ำแล้ว

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกว่า โอมิครอน BA.5 แพร่ระบาดทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากสองปัจจัยสำคัญคือ หนึ่ง ความแข็งแรงของไวรัส (Viral fitness) ที่มากกว่าทุกสายพันธุ์ที่เคยระบาดมาก่อน มีสมรรถนะการขยายวงการระบาดเร็วขึ้น และหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น ในขณะที่ความรุนแรงของโรคนั้น แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะฟันธง แต่หลายประเทศที่ BA.5 ระบาดมาก พบว่าทำให้มีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้นอย่างชัดเจน แม้ว่าทั่วโลกจะมีการฉีดวัคซีนไปมากพอสมควรแล้วก็ตาม แต่ด้วยความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่ฉีด และภูมิจากการที่เคยติดเชื้อมาก่อน ทำให้พบการติดเชื้อมากขึ้นอย่างมาก ทั้งในคนที่ไม่เคยติดมาก่อน และคนที่ติดเชื้อซ้ำ (Reinfection) ด้วยเหตุผลข้างต้น ไม่แปลกใจที่มีหลายฝ่ายยกให้ BA.5 เป็นศัตรูที่น่ากลัวกว่าทุกสายพันธุ์ที่มีมา

รศ.นพ.ธีระ กล่าวอีกว่า สอง ทั่วโลกมีการผ่อนคลายมาตรการ เสรีการเดินทางและการใช้ชีวิต หลายประเทศไม่ได้เน้นให้ประชาชนป้องกันตัว ระหว่างการใช้ชีวิต ทำให้เกิดการระบาดปะทุรุนแรงดังที่เห็นในปัจจุบัน สิ่งที่จะเป็นปัญหาระยะยาวคือ ภาวะลองโควิดจะบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิตและการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม

ขณะที่ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์เรื่องการติดเชื้อโควิดซ้ำว่า ช่วงนี้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจาก BA.4/BA.5 อย่าแปลกใจเมื่อพบว่าคนรอบตัวเราหลายคนที่ติดหนนี้ไม่ใช่การติดเชื้อครั้งแรก การติดเชื้อซ้ำไม่ใช่เรื่องแปลกนับตั้งแต่ยุคโอมิครอนเริ่มระบาด เพราะเชื้อดื้อภูมิมากอยู่แล้ว สายพันธุ์ใหม่ยิ่งดื้อกว่าอีก การติดเชื้อซ้ำในเมืองไทยมีสถิติเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ เพราะไม่มีการรวบรวมข้อมูล ยิ่งยุคที่ยอดรายงานต่ำกว่าความจริงมากแบบนี้ ยิ่งไม่มีทางรู้ข้อมูลจริง ขณะที่ข้อมูลจากสหราชอาณาจักร พบว่าราว 1/4 ของคนติดเชื้อใหม่เป็นการติดซ้ำ

ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า เหตุสำคัญของการติดเชื้อซ้ำคือ 1.เชื้อสายพันธุ์ใหม่มีการกลายพันธุ์บน spike ที่ต่างจากเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ภูมิที่เกิดจากการติดเชื้อก่อนหน้านี้หรือจากวัคซีนมีผลยับยั้งเชื้อได้น้อยลง 2.เวลาผ่านไประดับภูมิที่เรามีลดลงไปเรื่อยๆ ทำให้มีโอกาสติดซ้ำได้ นอกจากนี้ผู้ที่ติดเชื้อในยุคโอมิครอนเป็นต้นมา โดยเฉพาะที่ติดหลังได้รับวัคซีนแล้วอาการจะน้อยมาก และมักสร้างภูมิน้อยมากหรือไม่สร้างเลย ข้อมูลเก่าพบว่าคนติดเชื้อจะมีภูมิสูงพอที่ป้องกันการติดซ้ำได้ในระยะ 3 เดือน ปัจจุบันไม่เป็นจริงในยุคก่อนโอมิครอน อุบัติการณ์ของการติดเชื้อซ้ำพบน้อย ข้อมูลจากประเทศ เดนมาร์ก พบราว 1 ใน 7,400 คนจากการติดตามผู้ป่วยกว่า 4 ล้านคนในช่วงระบาดรอบแรกๆ แต่พอยุคเดลตาผู้ติดเชื้อซ้ำเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่ยังไม่มากราวร้อยละ 1.2 ของยอดผู้ติดเชื้อใหม่ การติดเชื้อซ้ำในยุคโอมิครอนเพิ่มสูงขึ้นไปในทิศทางเดียวกับการติดเชื้อหลังได้วัคซีนครบ 2 เข็ม เป็นเหตุให้ต้องมีการฉีดเข็มกระตุ้นกันขนานใหญ่ สิ่งสำคัญในรายงานยุคโอมิครอน คือการติดเชื้อซ้ำเกิดเร็วขึ้น สามารถพบได้ 20 วันหลังติดหนก่อน

ศ.นพ.มานพระบุอีกว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อสนับสนุนว่าคำแนะนำที่บอกว่า คนที่ติดเชื้อแล้วต้องรอ 3 เดือนจึงฉีดวัคซีนได้เป็นข้อมูลล้าสมัย การทิ้งระยะแบบนั้นในยุคโอมิครอนและ BA.4/BA.5 ระบาด ทำให้คนมีโอกาสติดเชื้อซ้ำก่อนได้วัคซีนเพิ่มขึ้นอีก แม้การติดเชื้อซ้ำไม่ใช่เรื่องน่ายินดี อย่างน้อย ข่าวดีของผู้ติดเชื้อซ้ำคือ โอกาสป่วยหนักเสียชีวิตลดลงมาก คือโอกาสป่วยหนัก นอนโรงพยาบาลลดลงประมาณร้อยละ 90 และถ้านอนโรงพยาบาลโอกาสเสียชีวิตลดลงประมาณร้อยละ 60 เทียบกับคนที่ติดครั้งแรก และต้องย้ำอีกทีว่าการติดเชื้อซ้ำไม่ใช่เรื่องดี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง เพราะพบว่าผู้ที่ติดเชื้อซ้ำมีโอกาสป่วยหนักหรือเสียชีวิตมากกว่าผู้ติดเชื้อแค่หนเดียวอยู่ดี ดังนั้นการติดเชื้อซ้ำโดยเฉพาะจากโอมิครอน ไม่ใช่วัคซีนเข็มกระตุ้นธรรมชาติอย่างที่หลอกลวง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง