ดัชนีเชื่อมั่นฯต่ำสุดในรอบ 9 เดือน คนกังวลน้ำมันแพง ค่าครองชีพสูง

กทม.-ดัชนีเชื่อมั่นฯเดือนพ.ค.ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 เหตุจากราคาพลังงานแพง ยกเลิกตรึงดีเซลกระทบต้นทุนสินค้า เกาะติดจีดีพีส่อหลุดเป้า

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากระดับ 40.7 เป็น 40.2 โดยปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศโดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนแรกหลังจากที่รัฐบาลยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น

นอกจากนี้ยังกังวลสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะคลี่คลายลงเป็นลำดับและรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายการดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจธุรกิจและการเปิดประเทศมากขึ้นแล้วก็ตามซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้น แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ความเชื่อมั่นโดยรวมปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 34.3 37.8 และ 48.5 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนเมษายน ที่อยู่ในระดับ 34.6 38.0 และ 49.6 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนยังคงกังวลในวิกฤต COVID-19 ในประเทศไทยและทั่วโลกที่ยังคงมีอยู่แม้ว่าจะคลายตัวลงก็ตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง

“ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าจากวิกฤต COVID-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเข้ามาซ้ำเติม ยิ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต รวมถึงปัญหาค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงต่ำกว่าเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 2.5-3.0% ในปีนี้”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง