ตั๋วผ่าน อนุญาตขายเหล้า ออกง่าย-ต่อสะดวกส่งผลนักดื่มน้องใหม่ ซื้อง่าย-ดื่มเพิ่ม

วิจัย สวรส. พบ ไทยมีร้านขายเหล้า 1.2 แห่งทุก 1 ตร.กม. ใบอนุญาตจำหน่ายสุรา กว่า 5 แสนใบ ส่งผลนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มพรวด 1.09 เท่า พร้อมชงข้อเสนอเชิงนโยบาย เพิ่มความเข้มงวดมาตรการคุมการเข้าถึงด้านกายภาพตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

หากมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับโฆษณาธุรกิจน้ำเมาในปัจจุบัน ที่อาจจะเห็นทิศทางพุ่งตรงไปยังกลุ่มวัยรุ่นไทย และกำลังกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของตลาดค้าสุราในบ้านเรา ข้อมูลหนึ่งที่อาจเป็นปัจจัยของการลงทุนกับการส่งเสริมการตลาดของธุรกิจในครั้งนี้ น่าจะมาจากพฤติกรรมการดื่มสุราของวัยรุ่นไทย ที่เพิ่มจำนวนขึ้นทั้งด้านนักดื่มหน้าใหม่ หรือปริมาณการดื่มที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ฉายภาพตัวเลขของนักดื่มคนไทยในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ ประมาณ 16 ล้านคน หรือคิดเป็น 28.5% โดยกลุ่มคนที่ดื่มหนักที่สุด คือ 36% อยู่ในกลุ่มคนอายุ 20-24 ปี และอายุ 45-49 ปี และเมื่อเจาะลงมายังกลุ่มวัยรุ่น หรือเยาวชน ที่มีอายุ 15-19 ปี มีอัตราดื่มอยูที่ 13.6% แต่ความสำคัญของกลุ่มนี้อยู่ที่มีอัตราการดื่มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผลของการดื่มสุรา และนักดื่มหน้าใหม่ ทำให้ขาดความยับยั้ง นำไปสู่การขาดความรับผิดชอบ และนำปัญหาต่างๆ ตามมา ทั้งปัญหาสุขภาพ และปัญหาทางสังคม เช่น อุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดมากในกลุ่มนักดื่มวัยรุ่น สู่การบาดเจ็บล้มตาย องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดของอาเซียนและติดอันดับ 10 ของโลก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความเร็ว และการดื่มสุรา

อีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้เห็นถึง “สาเหตุ” ของการดื่มสุราที่เพิ่มมากขึ้น จากการวิจัย “การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความหนาแน่นของจุดจำหน่ายสุราและพฤติกรรมการบริโภคสุราในวัยรุ่นไทย ปี พ.ศ. 2550-2560 โดยใช้ Spatiotemporal analysis” ของ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบว่า มีสื่อโฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือใน social media ที่เพิ่มความถี่ และวางเป้าหมายมาที่กลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น ขณะเดียวกัน จำนวน “ใบอนุญาตจำหน่ายสุรา” ในประเทศไทยก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึง การเข้าถึงสุราทำได้ง่ายขึ้นด้วย

ผศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร นักวิจัยเครือข่าย สวรส. ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยชุดนี้ เปิดเผยว่า การทำการตลาดของธุรกิจสุรา ปัจจุบันยังคงมุ่งมาที่กลุ่มวัยรุ่นที่เป็นเป้าหมายหลัก เราสามารถสังเกต
กลยุทธ์การขายสุราได้จากสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ แต่แน่นอนว่าการเข้าถึงสุราของกลุ่มวัยรุ่น ยังคงต้องพาตัวเองเข้าซื้อสุราเองที่เเรียกว่า การซื้อผ่านช่องทางกายภาพ หมายถึงการเดินเข้าไปร้านของชำ ร้านสะดวกซื้อ ผับ บาร์ เป็นต้น ตัวชี้วัดสำคัญที่สนับสนุนความสะดวกในการเข้าถึง คือ “ความหนาแน่นของใบอนุญาตการจำหน่ายสุรา” โดยเป็นการวัดจำนวนใบอนุญาตเทียบกับจำนวนประชากรในพื้นที่

“เราจึงเดินหน้าการวิจัยเรื่องนี้ เพื่อหาคำตอบว่าสัดส่วนการออกใบอนุญาตขายเหล้า มันสะท้อนได้ถึงความหนาแน่นของจุดขาย กับพฤติกรรมการดื่มเหล้าของวัยรุ่นไทย ที่เราจัดเก็บข้อมูลและทำวิจัยมาอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปี 2550-2560” ผศ.ดร.นพ.พลเทพ ขยายความ

ผลวิจัยของทีมวิจัยชุดนี้ ทำให้เห็นว่า แม้การออกใบอนุญาตจำหน่ายสุรามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วง 2 ปีล่าสุด โดยเพิ่มขึ้น 583,880 เป็น 588,962 ใบ หรือเพิ่มขึ้น 5,082 ใบ แต่ด้วยตัวเลขของใบอนุญาตที่มีกว่าครึ่งล้านใบ จะมีความหนาแน่นที่สูงอย่างมาก โดยเฉลี่ยแล้วจุดขายเหล้า 1 จุดจะรองรับกับประชากร 113 คน หรือจะมีร้านขายเหล้าได้ 1.2 แห่งต่อทุกๆ 1 ตารางกิโลเมตรของประเทศไทย ข้อมูลนี้สะท้อนได้ว่า คนไทยสามารถเข้าถึงสุราได้ง่ายมาก ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ จุดจำหน่ายรอบสถานศึกษาก็ยังคงมีอยู่ และระยะที่ใกล้ที่สุดกับรั้วโรงเรียนคืออยู่ที่จ.นนทบุรี ที่มีระยะห่างเพียง 4.4 เมตรเท่านั้น

ผศ.ดร.นพ.พลเทพ สะท้อนข้อมูลจากงานวิจัยอีกว่า ใบอนุญาตขายสุราเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อนักดื่ม ในปี 2554 ที่มีข้อมูล โดยเฉพาะกับนักดื่มเพศชายที่พบว่า เมื่อความหนาแน่นของใบอนุญาตขายสุราสูงขึ้น มีผลทำให้อัตราการดื่มของหน้าใหม่เพิ่มขึ้น 1.09 เท่า แต่กรณีนี้จะไม่พบในเพศหญิงที่เป็นนักดื่มหน้าใหม่ สำหรับพฤติกรรมการดื่มถัดไป คือ นักดื่มประจำ พบว่า มีเพียงตัวแปรดัชนีความขัดสนที่ส่งผลต่อการดื่มประจำ โดยที่ระดับความหนาแน่นของใบอนุญาตไม่ส่งผลต่อการดื่ม แต่สำหรับพฤติกรรมการดื่มหนัก ปัจจัยเรื่องความหนาแน่นของใบอนุญาตขายสุรา จะมีผลต่อการดื่มหนักของเพศหญิง แต่ไม่พบในเพศชาย โดยในเพศหญิง เมื่อความหนาแน่นของใบอนุญาตสูงขึ้น ซึ่งมีผลทำให้อัตราการดื่มหนักเพิ่มขึ้น 1.23 เท่า

ท้ายสุดในงานวิจัยจากทีมของ ผศ.ดร.นพ.พลเทพ ให้ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย โดยให้เพิ่มความเข้มงวดของการขอและต่อใบอนุญาตจำหน่ายสุรา รวมถึงเพิ่มค่าธรรมเนียมในการต่อใบอนุญาต ซึ่งเป็นมาตรการควบคุมการเข้าถึงทางกายภาพของสุราที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ โดยปัจจุบันระบบการขอใบอนุญาตจำหน่าย และการต่อใบอนุญาต มีความสะดวกมาก และมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำ ส่งผลให้ใบอนุญาตจำหน่ายสุราที่เป็นร้านค้าปลีกมีจำนวนมาก และกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันหามาตรการลดจำนวนและความหนาแน่นของใบอนุญาตจำหน่ายสุรา และอาจกำหนดเป็นเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการร่วมกันอย่างจริงจัง รวมไปถึงเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการห้ามขายสุรา ให้กับเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักแก่ผู้จำหน่ายสุรารายย่อย เนื่องจากเป็นช่องทางที่สำคัญในการเข้าถึงสุราของประชาชน โดยเฉพาะวัยรุ่น

ด้าน ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการวิจัย สวรส. กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า งานวิจัยชิ้นนี้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถใช้เป็นข้อมูลทางวิชาการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงกฎหมายควบคุมการออกใบอนุญาตจำหน่ายสุรา และการรณรงค์ในระดับพื้นที่

นอกจากนี้ ในปัจจุบัน การต่อใบอนุญาตจำหน่ายสุราสามารถต่อได้อย่างสะดวกและง่ายดาย ขาดความรัดกุมในแง่การตรวจสอบการกระทำความผิดต่างๆ เช่น การขายสุราให้เด็กที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถต่ออายุออนไลน์ได้ ข้อเสนอเชิงนโยบายจากงานวิจัยนี้จึงมีความสำคัญมาก งานวิจัยชิ้นนี้ได้ชี้ให้ผู้มีส่วนตัดสินใจในการออกกฎหมายเห็นว่า มีหลักฐานเชิงวิชาการที่แสดงถึงความหนาแน่นของจุดขายที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของพฤติกรรมและผลกระทบจากการดื่มสุราในประเทศไทย โดยควรพิจารณาทบทวนกฎเกณฑ์การออกและต่อใบอนุญาตให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อหยุดจุดเริ่มต้นหนึ่งของปัญหานี้อย่างยั่งยืน

ข้อมูลอ้างอิง
– งานวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข “การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความหนาแน่นของจุดจำหน่ายสุราและพฤติกรรมการบริโภคสุราในวัยรุ่นไทย ปี พ.ศ. 2550-2560 โดยใช้ Spatiotemporal analysis”, ผศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร และคณะ (2564)
– ผลการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ. 2560, สำนักงานสถิติแห่งชาติ

Related posts