กทม.ลุยฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เด็กกลุ่มเสี่ยง 7 โรคเรื้อรัง อายุ 5-11 ปี ขอรับวัคซีนได้ทุก รพ.ที่รักษาอยู่ จากนั้นจะปูพรมฉีดเด็กทั่วไปจนครบ
พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) เขตพระนคร เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2565 โดยมี นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัด กทม. หน่วยงานในสังกัด กทม. และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
พล.ต.ท.โสภณ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาและหารือแนวทางการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่เด็กอายุ 5-11 ปี ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้มีการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กให้ รพ.ต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว และรพ.ได้เริ่มดำเนินการให้บริการฉีดวัคซีนแก่เด็กอายุ 5-11 ปีไปบ้างแล้ว
“เบื้องต้นในช่วงแรกเป็นการฉีดวัคซีนแก่เด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.โรคอ้วน ที่มีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น 2.โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง 3.โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง 4.โรคไตวายเรื้อรัง 5.โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ 6.โรคเบาหวาน และ 7.กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า”
“จากการสำรวจยอดกลุ่มเป้าหมายเด็กอายุ 5-11 ปี ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีโรงพยาบาล 67 แห่ง แจ้งยอดรวม จำนวน 54,833 คน โดยเด็กที่มีภาวะเสี่ยง 7 กลุ่มโรคดังกล่าวสามารถขอรับบริการฉีดวัคซีนได้ที่ รพ. ที่เด็กมีประวัติการรักษาอยู่”
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการวัคซีนแก่เด็ก 5-11 ปี เป็นไปอย่างมีระบบตามที่ได้รับการจัดสรร จึงกำหนดฉีดวัคซีนแก่เด็ก 7 กลุ่มโรคเรื้อรังก่อน เมื่อฉีดวัคซีนให้เด็ก 5-11 ปี ทั้ง 7 กลุ่มโรคเรื้อรังครบแล้ว จะเริ่มทยอยฉีดวัคซีนให้แก่เด็กปกติอายุ 5-11 ปี ที่อยู่ในระบบสถานศึกษาไล่ตามลำดับ เริ่มจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ครบแล้ว จึงฉีดวัคซีนให้เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ไล่ลงไปเรื่อยๆ จนฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียนในระบบสถานศึกษาจนครบ จากนั้นจึงเป็นการฉีดวัคซีนให้เด็กในระบบโฮม สคูล (Home school) ต่อไป