พลิกผืนดินที่ไร้ประโยชน์ปลูกป่าผักหวาน
เก็บขายหน้าแล้งสร้างรายได้หลักแสนต่อปี
โดย…ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ
เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่บ้านนาราก หมู่ที่ 2 ต.อรพิมพ์ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา แต่ราคาไม่แน่นอน ปรับพื้นที่ที่เดิมทีใช้ประโยชน์ทำการเพาะปลูกมันสำปะหลังไม่ได้ ให้กลายมาเป็นพื้นที่เพาะลูกพืชสวน โดยเฉพาะผักหวาน เพื่อเพิ่มมูลค่าที่ดินและสร้างรายได้หลักแสนบาทต่อปี ทำให้มีรายได้เสริมจากการปลูกมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก
นางมณีรัตน์ นามเกษม อายุ 50 ปี กำนันตำบลอรพิมพ์ ซึ่งเป็นเจ้าของป่าผักหวาน เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวของตนเองมีที่ดินอยู่รวมกันทั้งหมด 120 ไร่ ส่วนใหญ่จะใช้เป็นแปลงเพาะปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัวรวมเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ แต่ยังมีอีกส่วนประมาณ 30 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินที่มีแต่หินศิลาแลงอยู่เหนือดินและใต้ดินเต็มไปหมด
จึงทดลองปลูกพืชมาหลากหลายชนิด จนกระทั่งได้พันธุ์ผักหวานมาทดลองปลูกเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว และก็ประสบความสำเร็จได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ จากนั้นก็ปลูกเพิ่มเติมเพิ่มมากขึ้นจนเกือบเต็มพื้นที่ จนล่าสุดกลายเป็นป่าผักหวานขนาดใหญ่มีต้นผักหวานรวมกันกว่า 1,000 ต้นเลยทีเดียว
ซึ่งแต่ละปีครอบครัวจะช่วยกันเก็บผักหวานออกไปจำหน่ายตามท้องตลาดและตามออเดอร์การสั่งซื้อ ในราคากิโลกรัมละ 250 – 300 บาท แต่ละปีจะสามารถเก็บได้ประมาณ 3 – 4 เดือน โดยจะเริ่มตั้งแต่ต้นปีไปจนถึงประมาณช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง ที่ผักหวานจะแตกยอดอ่อนให้ได้เก็บ
แต่ละปีจะมีรายได้จากการจำหน่ายผักหวานหลักแสนบาท แล้วแต่ความต้องการของตลาดและกำลังการเก็บที่จะทำได้ในแต่ละปี เนื่องจากไม่มีกำลังพอที่จะเก็บผลผลิตไปขายได้ทั้งหมด ในปีนี้จึงได้เปิดสวนให้ชาวบ้านที่รู้จักกันมาเก็บกันเองถึงในสวนเพื่อนำไปรับประทานหรือไปจำหน่ายต่อ ในราคากิโลกรัมละ 150 บาท เพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
นางมณีรัตน์ ฯ กล่าวอีกว่า นอกจากผักหวานแล้ว ในพื้นที่ส่วนนี้ยังทดลองปลูกพืชสวนต่างๆอีกหลายชนิด อาทิ ทุเรียน เงาะ เป็นต้น ซึ่งก็เริ่มจะเห็นผล และเริ่มที่จะให้ผลผลิตแล้วเป็นปีแรก โดยเฉพาะทุเรียนที่กำลังออกดอกเตรียมที่จะให้ผลผลิต ซึ่งหวังว่าจะเป็นพืชอีกชนิดที่จะสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับครอบครัวของตนเองต่อไปในอนาคต.