วัดหิรัญญาราม “วังตะโก” หรือ วัดหลวงพ่อเงินบางคลาน แหล่งท่องเที่ยวสำคัญตามคำขวัญของจังหวัดพิจิตร ล่าสุดเกิดความวุ่นวายมีม็อบมาชุมนุมประท้วง เหตุเรื่องเก่าความขัดแย้งเรื่องอดีตเจ้าอาวาสกับรักษาการเจ้าอาวาสที่ได้รับแต่งตั้งอย่างถูกต้องยืดเยื้อตั้งแต่ปี 57 มาจนถึงวันนี้กลุ่มผู้ชุมนุมตั้งเต็นท์และปิดทางเข้า-ออก ยืดยื้อต่อเนื่องมากว่า10 วันแล้ว ล่าสุด ผกก.สภ.โพทะเล แจ้งผู้ชุมนุมให้สลายตัวและย้ายสถานที่รวมถึงต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง แต่ดูเหมือนจะไร้ผล เนื่องจากเหตุดังกล่าวส่งผลการท่องเที่ยวพิจิตรเสียหายพังยับไปด้วย
วันที่ 22 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าปัญหาของวัดหิรัญญา หรือ วัดหลวงพ่อเงินบางคลาน ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.บางคลาน อ.โพทะเล จ.พิจิตร และมีปัญหาหมักหมมมาตั้งแต่ พ.ศ.2557 มาจนถึงทุกวันนี้ เหตุสืบเนื่องมาจากพระผู้ใหญ่และคณะสงฆ์ได้ทำการสอบสวนและสั่งปลดอดีตเจ้าอาวาสจากนั้นได้แต่งตั้ง พระครูพิสุทธิวรากร เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดหิรัญญาราม หรือ วัดหลวงพ่อเงินบางคลาน แต่ก็ปรากฏว่าถูกอดีตลูกศิษย์ของอดีตเจ้าอาวาสขัดขวางและขัดขืนด้วยวิธีการต่างๆนานาจนเป็นคดีความขึ้นโรงพัก-ขึ้นศาลยุติธรรมจังหวัดพิจิตร-ศาลปกครอง-ศาลฎีกา นับรวมแล้วหลายสิบคดี ซึ่งผลคดีส่วนใหญ่ฝ่ายรักษาการเจ้าอาวาสจะเป็นฝ่ายชนะคดีเสียมากกว่า
ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 65 กลุ่มลูกศิษย์และผู้สนับสนุนอดีตเจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อเงินบางคลานจำนวนประมาณ 60-80 คน ได้รวมตัวกันตั้งเต็นท์ขนาดใหญ่ขวางทางเข้า-ออก และปิดประตูวัดหลวงพ่อเงินบางคลาน 1 จุด และประตูอื่นๆ อีก 5 จุด ก็นำกุญแจไปคล้องโดยไม่ยอมให้รักษาการเจ้าอาวาส-กรรมการวัด-ไวยาวัจกร-คนงาน ที่เป็นของฝ่ายรักษาการเจ้าอาวาสไม่ให้เข้า-ออกไปปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่จะมาทำบุญนมัสการกราบไหว้หลวงพ่อเงินวัดบางคลานก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย รวมถึงมีข่าวแพร่กระจายทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างหวาดกลัวกับเหตุการณ์จึงไม่มีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวเหมือนดั่งเคย ทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของพระพุทธศาสนารวมถึงมาตรการของฝ่ายปกครองและฝ่ายตำรวจว่าหย่อนยานปล่อยให้เหตุการณ์ยืดเยื้อบานปลายมาได้จนถึงทุกวันนี้ โดยไร้มาตการแก้ไขได้อย่างไร
การชุมนุมดังกล่าวส่งผลกระทบต่อวัดหลวงพ่อเงินบางคลาน ซึ่งถือเป็นนิติบุคคล จึงทำให้ไวยาวัจกรและเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิหลวงพ่อเงินวัดบางคลาน-แม่ค้าที่ขายของอยู่ในวัด-คนงาน ได้รวมตัวกันประมาณ 20 คน เพื่อไปแจ้งความที่ สภ.โพทะเล และได้ไปร้องเรียนร้องทุกข์กับ นายกเทศมนตรีตำบลบางคลาน เมื่อวันที่ 13 และ 15 ม.ค. 65 ว่า กล่าวหาว่าขัดขวางไม่ให้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ภายในวัด นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านหลายสิบครัวเรือนที่ต้องใช้เส้นทางเข้า-ออกหมู่บ้านด้วยการผ่านประตูวัดก็ได้รับความเดือดร้อนด้วยเช่นกัน แต่ฝ่ายตำรวจและฝ่ายผู้ปกครองส่วนท้องถิ่นก็มิได้ดำเนินการใดๆกับผู้ชุมนุมและปล่อยให้มีการชุมนุมยืดเยื้อฝ่าฝืนกฎหมายสร้างความเดือดร้อนให้วัดและให้นักท่องเที่ยวมากว่า 10 วันดังกล่าว
ล่าสุดเมื่อวานนี้ (วันศุกร์ที่ 21 ม.ค. 65) พ.ต.อ.วัชรเกียรติ ศิริวิมลฤทธิ์ ผกก.สภ.โพทะเล ได้เดินทางไปเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมว่า ขอให้ยุติการชุมนุมและขอให้ย้ายสถานที่ชุมนุมเนื่องจากการชุมนุมดังกล่าวผิด พ.ร.บ.การชุมนุม รวมถึงช่วงนี้มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ซึ่งก็มีข้อห้ามการชุมนุมด้วยเช่นกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้ทำเป็นหนังสือแจ้งผู้ชุมนุมให้ทราบมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่แกนนำผู้ชุมนุมได้ทำหนังสืออุทธรณ์ โดย สภ.โพทะเล และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิจิตรพิจารณาแล้วไม่อนุญาตให้ชุมนุมโดยการกีดขวางทางเข้า-ออก ของวัดหลวงพ่อเงินบางคลานจึงขอให้สลายการชุมนุมหรือย้ายการชุมนุมไปยังจุดอื่นภายในเวลา 18.00 น. ของวันเสาร์ที่ 22 ม.ค. 65 หากฝ่าฝืนก็จะบังคับใช้กฎหมายเพื่อความสงบสุขของประชาชนส่วนใหญ่ต่อไป
เช่นเดียวกับ นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ซึ่งให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าวว่า ได้สั่งการให้นายอำเภอโพทะเล และ ผกก.สภ.โพทะเล ยึดข้อกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดโดยไม่ต้องเกรงใจใคร เพราะหากเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครอง-ฝ่ายตำรวจ-ฝ่ายผู้บริหารท้องถิ่น หากละเว้นหรือไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนก็จะเป็นฝ่ายถูกดำเนินคดีในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือ ม.157 อีกด้วย
ทีมข่าวภูมิภาคจังหวัดพิจิตร