เกษตรกรปรบมือ DSI เดินหน้า “หมูเถื่อน”คดีเดิมต่อเนื่อง

เกษตรกรปรบมือ DSI เดินหน้า “หมูเถื่อน”คดีเดิมต่อเนื่อง พร้อมขอช่วยสอดส่องเพิ่มตามชายแดน

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ระบุ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูยินดีที่เห็นความคืบหน้าคดีหมูเถื่อน จากการดำเนินงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ขณะเดียวกันขอให้ช่วยสอดส่องดูแลการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนที่ยังคงมีทยอยเข้ามาในราชอาณาจักรไทยทางฝั่งชายแดนใต้และอีสาน โดยเฉพาะชิ้นส่วนหมู เช่น หนังหมู และเครื่องในหมู

นายสิทธิพันธ์เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ทำงานอย่างหนักในการตรวจจับหมูเถื่อน แต่กลุ่มผู้ลักลอบก็หาวิธีปรับเปลี่ยนรูปแบบ โดยนำเข้าหมูเถื่อนในกล่องแล้ว เมื่อมาถึงชายแดนก็จะฉีกกล่องบรรจุภัณฑ์ทำลายหลักฐาน และนำเข้ามาเฉพาะเนื้อหมูและเครื่องใน เพื่อเลี่ยงการตรวจจับ

สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

“ตอนนี้สถานการณ์หมูเถื่อนดีขึ้น แต่ยังไม่หมดไป เราพบว่ายังมีการลักลอบเข้ามาเรื่อยๆ โดยเฉพาะทางภาคใต้และชายแดนอีสาน พวกเขานำเข้าเฉพาะชิ้นส่วน ทำลายบรรจุภัณฑ์เพื่ออำพราง เลี่ยงการตรวจจับของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ กรณีเช่นนี้จึงอยากขอให้ DSI ช่วยสอดส่องดูแลด้วย เนื่องจากอาจมีความเชื่อมโยงกับคดีที่กำลังดำเนินการอยู่” นายสิทธิพันธ์กล่าว

นอกจากนี้ นายสิทธิพันธ์ยังกล่าวถึงเกษตรกรรายย่อยที่ยังคงถูกกดราคาโดยโบรกเกอร์หรือพ่อค้าคนกลาง  ทำให้ขายไม่ได้ราคา แม้ราคาหมูในประเทศจะทรงตัวและผู้ประกอบการหลายรายจะสามารถทำกำไรได้ แต่เกษตรกรรายย่อยยังคงต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐในการดูแลและสร้างความเป็นธรรมในกรณีนี้

“ราคาหมูในประเทศตอนนี้ค่อนข้างทรงตัว ผู้ประกอบการรายกลาง-รายใหญ่ก็พออยู่ได้ แต่เกษตรกรรายย่อยยังได้รับผลกระทบจากการถูกกดราคาของพ่อค้าคนกลาง ขอให้ภาครัฐช่วยเหลือดูแลเรื่องนี้ด้วย เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยสามารถทำอาชีพนี้ต่อไปได้” นายสิทธิพันธ์กล่าว

ทั้งนี้ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเชื่อในความสำคัญของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน และสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่กลุ่มผู้ลักลอบหมูเถื่อนได้ปรับเปลี่ยนวิธีการอย่างต่อเนื่อง รัฐจำเป็นต้องบูรณาการการติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด

อนึ่ง คดีหมูเถื่อนในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นในปี 2564 โดยมีการลักลอบนำเข้าหมูและผลิตภัณฑ์จากสัตว์อย่างผิดกฎหมายจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและตลาดหมูในประเทศอย่างรุนแรง หลังปริมาณหมูหายไปจากระบบถึง 50% ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน โดยมีการออกหมายจับบุคคลและนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับขบวนการนี้ จนถึงปัจจุบันคดีหมูเถื่อนยังอยู่ระหว่างการดำเนินการทางกฎหมาย

Related posts