เปิด 10 จังหวัด ฉีดวัคซีนโควิดต่ำสุด อีสานไม่ถึง 50%

สธ.เผย 10 จังหวัดฉีดวัคซีนได้น้อย แต่กลุ่มสูงอายุฉีดได้มาก ย้ำทุกกลุ่มให้ออกมาฉีด เร่งฉีดวัคซีนโควิดอีก 12.4 ล้านโดส ให้ครบ 100 ล้านโดสในพ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 19 พ.ย. นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค (คร.) แถลงว่า มาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด 1 เรื่องสำคัญคือวัคซีน ซึ่งขณะนี้ฉีดสะสมแล้ว 87.6 ล้านโดส เข็มแรก 46.2 ล้านโดส คิดเป็น 64.2% เข็มสอง 38 ล้านโดส 53.3% และเข็มสาม 2.9 ล้านโดส คิดเป็น 4.1% ยังต้องไปต่ออีก 12.4 ล้านโดส ถึงจะได้ 100 ล้านโดส

เป็นความท้าทายให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในสิ้นพ.ย.นี้ จะเป็นพื้นฐานให้ประเทศกลับสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประชาชนใช้ชีวิตทำมาหากินราบรื่น จึงมอบนโยบายสื่อสารสั่งการออกไปทั่วทุกพื้นที่ถึงคณะกรรมการโรคติตด่อจังหวัด/กทม.รับทราบแนวทาง

ซึ่งมีผู้ว่าราชการเป็นประธาน ทำให้ 1.ระดมสรรพกำลังจากหน่วยงานต่างๆ ออกสำรวจตรวจสอบจุดใดบ้างยังไม่ได้ฉีดวัคซีน อำนวยความสะดวกให้ฉีดทั่วถึง หน่วยงานฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เคาะประตูบ้านให้แน่ใจ บาวคนอาจเคยลงทะเบียนแล้วมีการเลื่อน หรือไม่สะดวก และไม่ได้ไปติดต่อเพิ่มเติม

2.คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดดูความพร้อม ให้หน่วยบริการ รพ.ต่างๆ จัดฉีดวัคซีนวอล์กอิน อำนวยความสะดวกเปิดรับนัดหมายฉีดวัคซีน เพื่อจัดสรรเตรียมพร้อมวัคซีนรองรับก็จะแม่นยำ ลดแออัด และเน้นความสะดวกปลอดภัยของประชาชน

3.ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ให้มั่นใจ เพราะข้อมูลข่าวสารมีมากในโซเชียลมีเดีย มีทั้งที่ขาดความครบถ้วน สร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนไม่กล้าตัดสินใจรับวัคซีน ซึ่งข้อมูลยืนยันชัดเจนว่า คนเสียชีวิต คือคนยังไม่ได้รับวัคซีน คนรับได้รับผลการป้องกันอย่างเต็มที่

“ย้ำว่าวัคซีนปลอดภัยสูง การเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์นั้น จากการรวบรวมมีข้อมูลเสียชีวิตทุกสาเหตุและตรวจสอบว่าเกิดจากอะไร เกือบทั้งหมดไม่ได้เกิดจากวัคซีน มีเพียง 4 รายที่เกี่ยวข้องวัคซีน โดย 2 รายที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ ภาวะแพ้รุนแรงร่วมภาวะช็อก 1 ราย และภาวะแพ้ที่ทำให้เกิดความผิดปกติทางผิวหนัง 1 ราย นอกนั้นไม่เกี่ยวข้อง และยังรอข้อมูลติดตามเพิ่ม

รัฐบาลมีระบบดูแลรักษาเมื่อมีอาการผิดปกติ สามารถกลับไป รพ.แจ้งว่าฉีดวัคซีนเมื่อไร มีอาการอย่างไร เรื่องการเยียวยาไม่รอพิสูจน์ หากเสียชีวิตรับการเยียวยาก่อนผลการสอบสวนโรคหาสาเหตุ” นพ.เฉวตสรร กล่าว

นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อว่า ระบบเหล่านี้มีพร้อมในทุกพื้นที่ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าเรามีระบบรองรับและวัคซีนเรื่องอาการแพ้รุนแรง โอกาสเกิดขึ้นช่วง 30 นาทีแรกหลังฉีดก็มีการเฝ้าระวัง ส่วนอาการปวด เจ็บ กล้ามเนื้อ ปวดศีรษะที่เกิดขึ้นใน 7 วันส่วนใหญ่หายได้เอง แม้แต่อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่มีรายงานในเด็กนักเรียนบ้าง ก็ถือว่าอยู่ในอัตราที่น้อยและต่ำกว่าต่างประเทศ แต่ต้องระวังหลังการฉีดคือออกกำลังกายหนักๆ

บางคนหลังไปฉีดวัคซีนไปว่ายน้ำ เล่นฟุตบอล เป็นออกกำลังกายที่หนัก บางกรณีจมน้ำเสียชีวิต สาเหตุไม่ได้มาจากวัคซีน ก็ต้องแสดงความเสียใจ เราควรหลีกเลี่ยง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เกิดจากวัคซีนมาเกี่ยวข้อง

ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กล่าวว่า ทั้งนี้ พื้นที่นำร่องท่องเที่ยวที่ต้องได้รับวัคซีนสูง จุดสำคัญคือกลุ่มเสี่ยงสูง 608 โดยกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปเข็มแรกภาพรวม 79.5% ภาพรวมทุกประชากรเข็มแรก 85.1% เข็มสอง 72.2% อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดท่องเที่ยวเข้ามาอาจมีคนไทยจากพื้นที่อื่นหรือแรงงานเพื่อนบ้านเข้ามาในพื้นที่ ฝากให้ผู้ดูแลกิจการต่างๆ คนเกี่ยวข้องในชุมชน ดูว่ามีแรงงานต่างด้าวมาใหม่ยังไม่ฉีดหรือไม่ ขอให้ฉีดเพิ่มเติม ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.ให้ความสำคัญจัดสรรวัคซีนเพิ่มความสะดวกในการเข้าไปฉีด

ส่วน 10 จังหวัดที่ฉีดวัคซีนได้ต่ำสุด คือ นครพนม, หนองบัวลำภู, บึงกาฬ, สกลนคร, กาฬสินธุ์, ยโสธร, แม่ฮ่องสอน, สุรินทร์, ร้อยเอ็ด และชัยภูมิ มีปัจจัยหลายอย่าง เช่น คลื่นการระบาด จำนวนผู้ติดเชื้อไม่หวือหวา ประชาชนรู้สึกว่าความเสี่ยงต่ำและขอรอก่อน แต่ขณะนี้จะเห็นว่าการฉีดวัคซีนต่ำ หากเกิดคลัสเตอร์อะไร จะเกิดการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วได้

จากการตรวจสอบข้อมูลระบบ “หมอพร้อม” วันที่ 19 พ.ย.64 พบว่ามีทั้งหมด 9 จังหวัด ที่ยังฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรยังไม่ถึงร้อยละ 50 ได้แก่ นครพนม สกลนคร หนองบัวลำภู บึงกาฬ กาฬสินธุ์ นราธิวาส ปัตตานี แม่ฮ่องสอน และ ตาก ในจำนวนนี้ พบว่ามี 4 จังหวัด อยู่ในเขตสุขภาพที่ 8 ได้แก่ นครพนม สกลนคร หนองบัวลำภู และบึงกาฬ

อยากให้ประเมินเรื่องความเสี่ยงและฉีดวัคซีนกว้างขวางมากขึ้น แต่เมื่อดูเฉพาะกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป หลายพื้นที่ฉีดได้เกิน 70% ถือเป็นต้นทุนที่ดี หากเจอการระบาด กลุ่มที่เสี่ยงอาการรุนแรงก็จะมีอัตราเสียชีวิตหรือป่วยหนักนอน รพ.ต่ำ ขอให้จังหวัดต่างๆ เหล่านี้ช่วยกันสื่อสารอธิบาย ท่านใดที่ลังเลไม่แน่ใจเรื่องใดก็ติดต่อเจ้าหน้าที่ช่วยอธิบายให้เข้าใจได้

ส่วนจังหวัดที่ฉีดครอบคลุมเข็มแรกเกิน 70% มี 11 จังหวัด ฉีดได้ 50-69% มี 43 จังหวัด หวังว่าจะขยับขึ้นไปเป็น 70% และเพิ่มสูงเรื่อยๆ ท่านใดยังไม่ฉีดไม่ว่าจังหวัดไหน แม้จังหวัดนั้นจะฉีดเยอะแล้ว แต่รับฟังข้อมูลแล้วเห็นประโยชน์ของวัคซีนแล้วก็สามารถไปติดต่อขอฉีด

สอบถาม อสม. รพ.สต.หรือ รพ.รัฐใกล้บ้าน สำหรับความครอบคลุมกลุ่มสูงอายุและโรคเรื้อรังเกิน 80% มี 6 จังหวัด คือ ปทุมธานี นครพนม สกลนคร กทม. เชียงใหม่ สมุทรปราการ จะเห็นว่านครพนม สกลนคร แม้ภาพรวมจะฉีดได้ต่ำ แต่กลุ่ม 607 ทำได้สูงมาก ขอให้ประชากรกลุ่มอื่นๆ มาฉีดเพิ่มเติมให้ได้เปอร์เซ็นต์สูงขึ้นเช่นกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง