ชาวนาโคราชเฮ!รับเงินชดเชยประกันรายได้นาข้าวถูกน้ำท่วมงวดแรก

นครราชสีมา-ชาวนาโคราช เฮ ! รับเงินชดเชยโครงการรับประกันรายได้งวดแรก หลังนาข้าวถูกน้ำท่วม

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2564 นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา นายอำเภอสูงเนิน หัวหน้าส่วนราชการ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดนครราชสีมา และผู้จัดการสำนักงาน ธ.ก.ส. สาขาสูงเนิน ร่วมทำพิธีมอบเงินส่วนต่างงวดแรก จากโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 ที่สำนักงาน ธ.ก.ส. สาขาสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา

นายวิเชียร กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้ข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนาน เพื่อช่วยเหลือป้องกันความเสี่ยงด้านราคา ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุนนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้เร่งดำเนินโครงการประกันรายได้ข้าวปีที่ 3 ให้กับเกษตรกร โดยการจ่ายเงินชดเชยตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 งวดที่ 1 คณะอนุกรรมการกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงเห็นชอบราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง สำหรับเกษตรกรที่แจ้งเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลังระหว่างวันที่ 5-14 ตุลาคม 2564 โดย ธ.ก.ส.สามารถจ่ายเงินงวดแรกได้ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งได้ดำเนินการโอนเงินส่วนต่างเข้าบัญชีให้แก่เกษตรกร ส่วนงวดที่ 2 งวดที่ 3 และงวดที่ 4 ธ.ก.ส. จะโอนเงินส่วนต่างเข้าบัญชีในวันต่อไป

สำหรับงวดที่ 1 และ 2 ในอำเภอสูงเนิน มีเกษตรกร จำนวน 247 ราย จ่ายเงินส่วนต่าง จำนวน 3,171,471.83 บาท รวมทั้งจังหวัด 1,582 ราย จ่ายเงินส่วนต่างจานวน 20,059,113.75 บาท ซึ่งนอกเหนือจากการดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้โครงการประกันรายได้ ปี 2564/65 แล้ว ยังมีมาตรการคู่ขนานที่ให้เกษตรกรเก็บไว้ในยุ้งฉางตนเอง โดยได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท คือโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก เพื่อให้เกษตรกรเก็บข้าวเปลือกไว้ที่ยุ้งฉางของตนเอง และนำเงินสินเชื่อไปใช้จ่าย โดย ธ.ก.ส. ไม่คิดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 5 เดือน และโครงการสินเชื่อเพื่อรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร รวมทั้ง โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก เพื่อดึงผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาด ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า สถานการณ์การส่งออกข้าว มีทิศทางที่ดีจากคำสั่งซื้อต่างประเทศที่มีมากขึ้นในช่วง 6 เดือนหลัง รวมทั้งค่าเงินปัจจุบันที่อ่อนตัวลง และราคาข้าวในประเทศที่สามารถแข่งขันได้ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เร่งรัดผลักดันการส่งออก คาดว่า ปริมาณการส่งออกทั้งปีจะใกล้เคียงกับเป้าหมาย 6 ล้านตัน ซึ่งจะส่งผลให้มีแรงซื้อข้าวในประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมามีเกษตรกรขึ้นทะเบียนพื้นที่ปลูกข้าว จำนวน 3,444,671 ไร่ คาดว่า จะเสียหายจากภาวะอุทกภัย จำนวน 603,339 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 17.51 โดยผลผลิตข้าวจะเก็บเกี่ยวและออกสู่ตลาดมากตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่า จะเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นไม่เกินกลางเดือนธันวาคมปีนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง