เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2566 นายวสันต์ ชิงชนะ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เขตตรวจราชการที่ 6 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน และคณะฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลกระทรวงมหาดไทยและกรมการพัฒนาชุมชนของอำเภอมะนัง จังหวัดสตูล ได้แก่ การบริหารจัดการหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอำเภอมะนัง กิจกรรม “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” ดีเด่นของจังหวัดสตูล หมู่ที่ 7 ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอมะนัง และครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” แปลงนายอดุลย์ หมวดสง หมู่ที่ 7 ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอมะนัง
โดยมีนายพีร ฤทธิ์เดช พัฒนาการจังหวัดสตูล ,นางสาวพรทิพย์ สุดจันทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน,นายวีระ เพ็ญจำรัส ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน ,นางหทัยทิพย์ อิสายะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานและสนับสนุนการบริหารงานพัฒนาชุมชน ,นักวิชาการพัฒนาชุมชนและเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดสตูล ร่วมลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน โดยมีนายภิรวัฒน์ จันทร์ดิษฐวงษ์ พัฒนาการอำเภอมะนัง ,เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอมะนัง ,คณะกรรมการพัฒนาสตรี,คณะกรรมการหมู่บ้าน , ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน และนายอดุลย์ หมวดสง (อดีตกำนันตำบลนิคมพัฒนา) ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล เจ้าของพื้นที่และเจ้าของแปลง ให้การต้อนรับ ร่วมปลูกต้นไม้ และนำเยี่ยมชมกิจกรรม
จากนั้นเวลา 10.30 – 12.30 น. ได้รับฟังบรรยายสรุปการดำเนินการบริหารจัดการหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอำเภอมะนัง พบปะคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและติดตามการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอำเภอมะนัง ,คณะทำงานขับเคลื่อนฯตำบล ,คณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภอมะนัง และสมาชิกกองทุนฯ ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลปาล์มพัฒนา ซึ่งนายเชษฐ บุตรรักษ์ นายอำเภอมะนัง มอบหมายให้นายธารินทร์ รังสิมันตุ์วงศ์ ปลัดอำเภอป็นผู้แทนในการให้การต้อนรับ ร่วมให้ข้อมูลและรับทราบผลการดำเนินงาน
ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระองค์ทรงพระราชทานโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” “ซอยนี้มีรัก ปลูกผักแบ่งปัน” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” แก่พสกนิกร มาขยายผลต่อยอดเป็นกิจกรรมในการสร้างความมั่นคงทางอาหารตามแผนปฏิบัติการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ที่ดำเนินการไปแล้วครอบคลุมทุกพื้นที่ทุกครัวเรือน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะให้โครงการนี้จะเป็นเครื่องมือช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ยกระดับการพัฒนาชีวิตของพี่น้องประชาชนโดยยึดหลักการพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน และไม่เพียงเฉพาะแค่เรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยทำให้เกิดสังคมแห่งความรักใคร่ สามัคคี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมในพื้นที่มีสภาวะที่ดีขึ้น สวยงาม ก่อให้เกิดความสุข ด้วยการใช้ประโยชน์พื้นที่ในครัวเรือน ในเขตคุ้มบ้าน และพื้นที่สาธารณะร่วมกัน เกิดการเอื้อเฟื้อแบ่งปันอาหารที่ปลอดภัย
อีกทั้ง ผลการดำเนินการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โดยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดทฤษฎีใหม่ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มีการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ตามภูมิสังคม ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงเกิดกระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม การพึ่งพาตนเอง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการตนเองและชุมชนให้มีความสุขได้อย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาสามารถดำเนินการได้ประสบผลสำเร็จอันเกิดขึ้นจากองค์ประกอบมากมายหลายส่วน แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ การที่พี่น้องประชาชนเปิดใจยอมรับ เกิดความเชื่อมั่น และลงมือทำจนเกิดเป็นรูปธรรม ในการที่จะขับเคลื่อนขยายผลแนวทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยหลักการพึ่งพาตนเอง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
การบริหารจัดการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำที่สามารถส่งเสริมให้สมาชิกได้นำเงินทุนไปใช้ประโยชน์ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ได้อย่างมั่นคง และขอให้อำเภอ คณะทำงานทุกฝ่ายได้ร่วมกันสร้างความเข้าใจต่อสมาชิก เฝ้าระวัง แจ้งเตือน ติดตาม เร่งรัด ให้สถานะทางบัญชีของลูกหนี้ดำเนินไปได้อย่างปกติ ป้องกันหนี้ดีกลายเป็นหนี้เสียในอนาคต ทั้งสนับสนุนให้สมาชิกที่ประสบความเดือดร้อนหรือเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถผ่อนชำระคืนได้ตามกำหนด เข้าร่วมมาตรการให้ความช่วยเหลือตามที่คณะกรรมการกองทุนฯ กำหนด รวมทั้งดำเนินการทางกฎหมายกับลูกหนี้ที่ขาดวินัยทางการเงินและเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือต่างๆ จนหมดแล้ว แต่ยังค้างชำระ เพื่อขออำนาจศาลในการบังคับชำระหนี้หรือช่วยเหลือนอกเหนือขอบเขตอำนาจของพัฒนาการจังหวัดที่ได้รับมอบหมาย
เวลา 13.30 น. คณะได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมครัวเรือนต้นแบบของนายกิตติโชติ ชนะหลวง หมู่ที่ 7 ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอมะนัง เกษตรกรต้นแบบในการบริหารจัดการพื้นที่ พืช ดิน น้ำ ปุ๋ย พลังงานทดแทน ที่สามารถสร้างรายได้จากการปลูกพริกขี้หนู พืชผักสวนครัว ไม้ผลผสมผสาน ไม่ต่ำกว่า 20 ชนิด โดยใช้กำลังแรงงานคนในครัวเรือนเป็นหลัก ดำเนินการในพื้นที่กว่า 6 ไร่ มีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 5,000 บาท ปีละไม่ต่ำกว่า 2,000,000 บาท ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนา เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม มีรายได้พึ่งพาตนเอง เป็นต้นแบบสร้างกระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม การพึ่งพาตนเอง เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ มีแนวทางทำกินตามแนวทางสัมมาชีพ สามารถบริหารจัดการตนเองและชุมชนให้มีความสุขได้อย่างยั่งยืน
จากนั้นคณะฯ ได้เยี่ยมชมครัวเรือนสัมมาชีพตัวอย่าง นางสมบูรณ์ ชายแก้ว หมู่ที่ 3 ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอมะนัง ในการปลูกผักสวนครัว ไม้ผล พืชสมุนไพร รวมกันในพื้นที่รอบบริเวณบ้าน เนื้อที่ 2 ไร่ มากกว่า 20 ชนิด มีนายสมใจ ตั้งเอียด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลนิคมพัฒนา ร่วมต้อนรับ โดยทั้งสองครัวเรือนดังกล่าวฯ ได้น้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพร เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต สร้างความมั่นคงด้านอาหาร และใช้เป็นยารักษาโรค รวมทั้งการคัดแยกขยะ จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อนำเศษอาหารจากการบริโภคมาใส่รวมเป็นปุ๋ยหมัก การทำปุ๋ยหมักเป็นสารบำรุงดินบำรุงพืช เป็นปุ๋ยหมักชั้นดีที่จะทำให้พืชผักสวนครัวเหล่านั้น เป็นพืชที่ปลอดสารพิษ อันจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป
เวลา 15.00 -17.00 น. ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน และคณะ ได้เดินทางไปกราบนมัสการท่านพระครูโสภณปัญญาสาร เจ้าคณะอำเภอมะนัง (เจ้าอาวาสวัดนิคมพัฒนาราม) วัดผัง 7 หมู่ที่ 3 ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอมะนัง โดยการขับเคลื่อนกิจกรรมสาธารณะของคณะสงฆ์ และการใช้พลัง “บวร” บูรณาการทำงานร่วมกับ 7 ภาคีการพัฒนา ภายใต้การนำของนายอำเภอมะนัง ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวมะนังให้มีความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้ที่มั่นคง เพียงพอต่อการดำรงชีพ พร้อมเยี่ยมชมการดำเนินงานธนาคารน้ำใต้ดินแบบปิดและแบบเปิด ฝายชะลอน้ำ หลาดสวนไผ่วัดผัง 7 และศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โดยในพื้นที่ภายในบริเวณวัดได้ทำการจัดการแหล่งน้ำและพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล ตามหลักการป่า 5 ระดับ คือ ไม้สูง ไม้กลาง ไม้เตี้ย ไม้เรี่ยดิน ไม้หัวใต้ดิน หรือป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ใช้สอย ใช้ก่อสร้าง ใช้กิน และเกิดประโยชน์ พออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น ซึ่งไม้สูง ได้แก่ ตะเคียน ยางนา สะเดา มะฮอกกานี ยางนา ,ไม้กลาง จำพวกไม้ผลหลากชนิด เช่น ทุเรียน มังคุด สะตอ กระท้อน อาโวคาโด สละสุมาลี สละอินโด มะม่วง มะเฟือง มะพร้าว ฯลฯ , ไม้เตี้ย ได้แก่ พริก มะเขือ มะกรูด มะนาว ฝรั่ง ชมพู่, ไม้เรี่ยดิน ได้แก่ ไม้ประเภทเถาให้ผลกินได้ ฟักทอง ตำลึง และ ไม้ใต้ดิน ได้แก่ พืชสมุนไพรหัวใต้ดิน ขมิ้น กระชาย ข่า เป็นต้น จากนั้นท่านเจ้าคณะอำเภอได้นำเยี่ยมชมฝายชะลอน้ำจุดตัวอย่าง 1 ใน 190 ฝาย ที่สามารถกักเก็บน้ำและความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ เพียงพอต่อการเกษตรและอุปโภค อีกทั้งยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด คลังอาหารของประชาชนในพื้นที่
ภาพ/ข่าว – ทีม พช.มะนัง