บัญญัติ ฟันธงการเมืองปี 2566 แรง ใช้เงินสารพัด “แจกกล้วย-เห็บ-งูเห่า-ดูด” สูงมากเป็นพิเศษแล้วถอนทุนคืน

กระแสหรือจะสู้กระสุน! “บัญญัติ” ฟันธงการเมืองปี 66แรง ใช้เงินสารพัด “แจกกล้วย-เห็บ-งูเห่า-ดูด” สูงมากเป็นพิเศษ แล้วถอนทุนคืน เกิดสงครามช่วงชิงพื้นที่ได้-เสียงในโซเชียล แนะ “กกต.” คุมเข้มเลือกตั้ง มอง “ภท.” ประกาศจับทุกขั้ว เป็นสิทธิ์ แต่อยู่ที่ชาวบ้านเอาด้วยหรือไม่

เมื่อวันที่ 2 ม.ค.2565 นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถาณการณ์การเมืองในปี 2566 ว่า การเมืองปีหน้า เด่นอยู่2 ด้าน 1.ด้านความเป็นธนาธิปไตย คือการใช้เงินเพื่อการเมืองในการเลือกตั้งปี2566 จะสูงมากเป็นพิเศษ ซึ่งมีลักษณะเด่นเราก็เห็นมากขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ช่วงปี 2 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการแจกกล้วยในสภา ทั้งเรื่องเห็บ งูเห่า การดูด รวมถึงการพูดถึงค่าตัวส.ส. 30-40 ล้านบาท แสดงให้ว่ามีการใช้เงินเพื่อการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ

นายบัญญัติ กล่าวต่อว่า นักการเมืองจำนวนไม่น้อยที่เริ่มมีความรู้สึกตามคำพังเพย ”กระแสหรือจะสู้กระสุน แม้แต่การสร้างกระแสก็ต้องใช้กระสุน” คือการทำการตลาดอย่างทุ่มเทมากขึ้น ซึ่งตรงนี้อันตราย เพราะเมื่อมีการใช้เงินทางการเมืองมากเสมือนการลงทุน การถอนทุนก็ย่อมจะเกิด เมื่อถอนทุนแล้วไม่พอต้องเตรียมทุนไว้สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปอีก และเมื่อถอนทุนก็ทำได้ เตรียมทุนไว้ก็ทำได้ จึงเกิดความรู้สึกเมามัน อาศัยอำนาจทางการเมืองที่สามารถเอื้ออำนวยผลประโยชน์ให้กับตนหรือพรรคพวก ก็มีการทำธุรกิจการเมือง หรือธนกิจการเมืองตามมา อาศัยความได้เปรียบคู่แข่งขันที่เข้าไม่ถึงศูนย์กลางแห่งอำนาจ แล้วที่ร้ายไปกว่านั้นคือเมื่อเข้าไปศูนย์กลางอำนาจได้ การเบียดบังผลประโยชน์ของรัฐจะเกิดขึ้นนอกจากนี้ยังมีการใช้เงินเพื่อสร้างเครือข่ายไอโอ ช่วงชิงความได้เปรียบเสียเปรียบในโลกโซเชียล ที่น่ากลัวที่สุดคือการใช้เงินสร้างเครือข่ายอุปถัมภ์ อาจจะเป็นเพราะเข้าใจว่าในช่วงระยะเวลา2-3ปีที่ผ่านมาภายใต้สถานการณ์โควิดคนในสังคมไทยระดับพอมีพอกิน เริ่มชักหน้าไม่ถึงหลังมากขึ้น

“ก็เลยคิดกันเอาเองว่าเครือข่ายอุปถัมภ์จะมีน้ำหนักมากพอในการช่วงชิงการได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง มีการฟื้นฟูระบบบ้านใหญ่ วัฒนธรรมบ้านใหญ่ ซึ่งห่างหายไปแล้วระยะหนึ่งและฟื้นคืนกลับมา และที่น่ากังวลอีกคือการจับมือกับผู้บริหารท้องถิ่นในบางที่ สร้างเครือข่ายอุปถัมภ์ในท้องถิ่นนั้นๆ” นายบัญญัติ กล่าว

นายบัญญัติ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันยังมีอีก 2 ลักษณะ คือ 1.สามารถสนับสนุนส่งเสริมให้มีการตั้งงบประมานตามโครงการต่างๆ ที่มากเกินจำเป็นที่เรียกว่า สร้างงานให้ผู้รับเหมา ไม่ใช่สร้างเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชน 2. การเบียดบังผลประโยชน์รัฐ คือการกำหนดเงื่อนไขให้รัฐต้องชดเชยเงินจำนวนมากในการดำเนินการตามโครงการเพื่อประโยชน์สาธารณะ เรื่องเหล่านี้คือกระบวนการที่ตามมา ถ้าการเมืองใช้เงินมาก ใช้เงินซื้อเสียง แล้วถ้าเราจะช่วยทำให้ประชาชนเห็นพิษภัยของการซื้อสิทธิ์ขายเสียงตั้งแต่ต้นมือ โดยเฉพาะถ้าเราสามารถทำให้ประชาชนเข้าใจว่า เงินของรัฐที่ถูกเบียดบังไปทั้ง 2 ลักษณะมีจำนวนแต่ละปีมหาศาล นั่นคือภาษีประชาชน

“ถ้าเราช่วยกันป้องกันการเมืองในลักษณะการลงทุนไม่ให้ประสบผลสำเร็จ รัฐก็จะเหลือเงินไม่ถูกเบียดบังนำมาทำประโยชน์ให้ประชาชนได้มากมาย นี่คือภาพของธนาธิปไตยที่กำลังจะรุนแรงมากขึ้น และพิษภัยที่พอจะมองเห็นและน่าจะเข้าใจได้ว่า ปี 2566 จะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นจนถึงการเลือกตั้ง” นายบัญญัติ กล่าว

นายบัญญัติ กล่าวอีกว่า ลักษณะเด่นที่ 2 ของการเมืองในปี 2566 คือสภาพความขัดแย้งแบ่งฝ่ายรุนแรงมากขึ้น ซึ่งความจริงขณะนี้รุนแรงอยู่แล้ว สะท้อนออกมาคือการด้อยค่ากันเองจนเกินเหตุผล ระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญติ หรือพรรคการเมือง ความจริงการวิพากษ์วิจารณ์หรือการตรวจสอบการถ่วงดุล เป็นเรื่องปกติธรรมดาของระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่ถ้าเราตรวจสอบถ่วงดุล ในลักษณะที่เราด้อยค่าจนเกินความเป็นจริงเกินเหตุผล ต่างฝ่ายต่างก็ทำกันมากขึ้น วันหนึ่งประชาชนจะรู้สึกว่าดูไม่มีใครดีเลย ซึ่งจะทำให้เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย และการทำการเมืองแบบแบ่งฝ่าย เช่นการแบ่งฝ่ายทางความคิด เศรษฐกิจ สังคม การเมือง อนุรักษ์นิยม เสรีนิยม สังคมนิยม เป็นเรื่องธรรมดา แต่การแบ่งฝ่ายที่รู้สึกจะนำได้สู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงของสังคมไทย คือการแบ่งเป็นพวกเขาพวกเรา ถ้าเป็นพวกเราถูกหมด ถ้าเป็นพวกเขาผิดหมด มันจะนำไปสู่อันตราย ท้ายที่สุดประชาชนที่จะเข้าร่วมกระบวนการแบ่งฝ่ายด้วย จะไม่ได้ตัดสินปัญหาที่เหตุที่ผลความถูกและความผิด แต่ตัดสินว่าเป็นพวกเขาหรือพวกเรา คือกระบวนการปลูกความชิงชัง ให้เกิดขึ้นกับคู่แข่งขัน ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้นเรื่อยๆ วันหนึ่งจะก่อให้เกิดความรุนแรงทางสังคมเกิดการเผชิญหน้ากันได้

“หลักการของประชาธิปไตย ที่ว่าประชาธิปไตยดีเพราะการเปลี่ยนแปลงโดยสันติวิธีก็เป็นไปไม่ได้ กลายเป็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดยการเผชิญหน้าในระหว่างกัน เกินความรุนแรงเข้าหากัน ผมว่าปี 2566 ก็จะมีปรากฎการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะใกล้เลือกตั้งเข้าไปทุกที ถ้ารัฐมีอำนาจหรือผู้เกี่ยวข้องเองไม่ได้ตระหนักในอันตรายเหล่านี้ ความรุนแรงที่น่ากังวลอาจจะเกิดขึ้น เวลาเลือกตั้ง หรือหลังเลือกตั้งได้” นายบัญญัติ กล่าว

นายบัญญัติ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นในปีพ.ศ.2500 สมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม ที่มีการใช้เงินทองอำนาจรัฐใช้อิทธิพล และมีข้าราชการบางหน่วยบางสังกัดคอยเดินเวียนเทียนลงคะแนนแทนคนที่ไม่มาลง และยังมีบัตรสำรองที่ลงคะแนนแล้วอยู่ก้นหีบ สิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ และองค์กรที่ต้องตระหนักถึงอันตรายคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และหากกกต.ล้มเหลวจะทำให้เหตุการรุนแรงไปกันใหญ่ เพราะการเลือกตั้งสกปรกไม่สุจริตที่เกิดขึ้นสมัยจอมพลป. มีการชุมนุมเรียกร้องในกรุงเทพฯเท่านั้น แต่ในปัจจุบันนี้ตนคิดว่า ถ้าการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่เรียบร้อย มีการกล่าวหาว่าเลือกตั้งสกปรก การชุมนุมเรียกร้องอย่างน้อยที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดที่เป็นเมืองของมหาวิทยาลัยและในทุกภาคของประเทศซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัว ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่ชี้ช่องหรือชี้โพรงให้กระรอกแต่ด้วยความเป็นห่วงเป็นใยเมื่อสถานการณ์เริ่มรุนแรงมากขึ้น

“กกต. ต้องคิดอ่านเดินหน้าลงสู่ชนบทได้แล้ว อาจจะต้องไปจับมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎทั่วประเทศ เพื่อเดินหน้าตามโครงการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ในความสำคัญของการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ให้ประชาชนได้เกิดความรู้สึกตระหนักในความเป็นพลเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตยและสำคัญที่สุด ให้ประชาชนตระหนักในพิษภัยของการเมืองที่ใช้เงินว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นตามมา ตรงนี้สำคัญมาก โครงการอบรมให้ความรู้ความเข้าใจในกรุงเทพของ กกต.ไม่ว่าจะเป็นโครงการให้ความรู้ความเข้าใจ การเมืองการเลือกตั้งต่อบุคคลที่พรรคการเมืองส่งไปหรือต่อบุคคลภายนอกควรจะเบาๆลง และเอาแรงไปเดินสู่ชนบทจะเป็นประโยชน์มากกว่า โครงการอบรมให้ความรู้ความเข้าใจในการเมืองการเลือกตั้งต่อบุคคลภายนอกดูจะถูกครหานินทาอยู่เสมอว่าไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรเพราะผู้ที่เข้ารับการอบรมก็ไม่ได้นำความรู้ความเข้าใจนี่ไปใช้เพื่อประชาธิปไตยสักเท่าไหร่ แต่กลายเป็นศูนย์กลางของการสร้างคอนเนคชั่น แต่โอเคถ้ามีกำลังเหลือก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ในขณะที่ปัญหาที่เผชิญหน้าอยู่ไม่ใช่ตรงนี้ ปัญหาใหญ่คือต้องช่วยให้การเลือกตั้งบริสุทธ์ิยุติธรรม โดยลดการซื้อสิทธิ์ขายเสียงอย่างไร เพื่อไม่ให้ความเสียหายเกิดขึ้นได้ภายหลัง” นายบัญญัติ กล่าว

เมื่อถามว่า พรรคภูมิใจไทยประกาศพร้อมจับทุกขั้วจัดตั้งรัฐบาลจะเกิดปัญหาตามหรือไม่ นายบัญญัติกล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะเดินหน้าทางการเมืองอย่างไร แต่ก็เป็นสิทธิ์ของประชาชนเช่นกันว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่สำหรับคนอย่างพวกเราๆ ที่ทำการเมืองมานานเราก็จะดู 2 ส่วนด้วยกัน คือ1.การเลือกตั้งได้สะท้อนเจตจำนงของเราออกมาในลักษณะเช่นไร ประชาชนคิดอย่างไรสนใจแนวคิดไหนที่จะไปร่วมกันได้หรือไม่ และ2.การจะไปร่วมกับใครอย่างไรจะทำประโยชน์ตามนโยบายที่ได้บอกกล่าวไว้ตอนรณรงค์หาเสียงไว้ว่าทำได้จริงหรือไม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง