นายกฯมาเลย์เยือนไทย 24-26 ก.พ.กระชับสัมพันธ์-ร่วมพัฒนาศก.ชายแดนใต้

เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย เปิดข้อเสนอ แนวทางพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ต่อคณะ นายกรัฐมนตรีมาเลย์จะเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่าง ก.พ.24-26 นี้

ตามที่ ดาโต๊ะ โยเยีย ซามูเอล (Datuk Jojie Samuel) เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าว หลังเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำวันตรุษจีนของสโมสร Malaysia Thailand Club (KMT) ที่ กรุงเทพฯ ว่า ดาโต๊ะ สรี อิสมาอิล ซับรี ยาอากอบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย จะเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่ 24-26 ก.พ. 65 ตามคำเชิญของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือเป็นเยือนไทยครั้งแรกนับตั้งแต่ ดาโต๊ะ สรี อิสมาอิลฯ เข้ารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อ ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งในวาระการประชุมหารือระหว่างการเยือนครั้งนี้ ได้แก่ การเปิดพรมแดน, ความร่วมมือทวิภาคี ตลอดจนการสำรวจโอกาสทางการค้า และการลงทุนหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) รวมทั้ง การรับรู้ใบรับรองการฉีดวัคซีนจากทั้งสอง ประเทศ อย่างไรก็ตาม การเดินเยือนทางไทยของ ดาโต๊ะ สรี อิสมาอิลฯ คาดว่าจะนำมาซึ่ง ข่าวดีเกี่ยวกับการเปิดพรมแดนทางบก ไทย – มาเลเซียอีกครั้ง

ล่าสุด นายชนธัญ แสงพุ่ม. รองเลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวว่า ศอ.บต. มีข้อเสนอ การประชุมหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีประเทศไทยและนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซียและได้เตรียมแผนการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง ในเรื่องของการเร่งรัดดำเนินโครงการตามกรอบแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT – GT) โดยเฉพาะแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงชายแดนประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย อาทิ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลก (แห่งที่ 2) อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส, โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลก อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีความร่วมมือเรื่องดังกล่าวมากว่า 20 ปี และโครงการเชื่อมโยงระบบการขนส่งทางราง ณ พื้นที่อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส

และรัฐกลันตันในประเทศมาเลเซีย เพื่อเป็นการสร้างเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ และ ข้อเสนอการริเริ่มนำร่องเมืองคู่การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ ฝ่ายประเทศไทยเห็นควรเสนอเมืองท่องเที่ยวอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งมีอัตลักษณ์ความเป็นพหุสังคม ความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ประเพณี วัฒนธรรมและอาหารเฉพาะถิ่นที่มีความงดงามเป็นการเฉพาะ ในขณะที่ประเทศมาเลเซีย เห็นควรเสนอรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เป็นเมืองคู่พัฒนาด้านการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ จากพื้นฐานอัตลักษณ์เฉพาะเมืองที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน อันจะสร้างความเป็นเมืองคู่ฐานและยกระดับการพัฒนาในมิติการท่องเที่ยวและการพัฒนาอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ อย่างเช่น ประเทศไทยมีโครงการวิ่งตามภูมิศาสตร์ในขณะที่ประเทศมาเลเซียมีการแข่งขันวิ่งมาราธอน เป็นต้น

มีการส่งเสริมให้นักธุรกิจรุ่นใหม่และองค์กรภาคธุรกิจของทั้ง 2 ประเทศ มีความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ ผ่านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมนวัตกรรมทั้งในระดับอุตสาหกรรม ระดับองค์กรและระดับประชาชนทั่วไป มีการแลกเลี่ยนความร่วมมือ ความรู้ด้านเทคนิคทาง การบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการนำวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการและดำเนินการด้านเกษตรกรรม การค้า การลงทุน อุตสาหกรรม แรงงาน และพาณิชย์ และการเชื่อมโยงเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนและธุรกิจเอกชนเพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรในการดำเนินงานทั้งในระดับนโยบาย และปฏิบัติ อันจะนำไปสู่การสร้างให้เกิด “ระบบนวัตกรรมระหว่างประเทศ” ขึ้นโดยเร็ว ทั้งนี้ โดยอาจให้มีการลงนามความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการพัฒนาในระยะต่อไป

และ เร่งรัดดำเนินการให้ ABD ดำเนินการจัดทำรายงานการศึกษาการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจที่ 6 (Economic Corridor 6) ตามที่มีการเสนอพัฒนาเขตเศรษฐกิจและการค้าใหม่ภายใต้กรอบแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT – GT) และดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการและการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติที่เป้นรูปธรรมเพื่อเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจและการค้าของทั้ง 3 ประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาตามที่ที่ประชุมผู้นำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย เห็นชอบไว้ด้วยแล้ว

รวมทั้ง เชื่อมโยงพื้นที่ชายแดนให้เป็นหมุดหมายของการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ การค้าและการท่องเที่ยวของประเทศไทยและประเทศมาเลเซียในเชิงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์การพัฒนา ผ่าน การจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจลิมอดาซา (Limor Dasar Version 5-5-5) บนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของ 5 จังหวัดใต้สุดของไทย ประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา จังหวัดสตูลและจังหวัดสงขลา ร่วมกับ 5 รัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย ประกอบด้วยรัฐกลันตัน รัฐเคดะห์ รัฐเปรัค รัฐเปอร์ลิสและรัฐปีนัง ในความร่วมมือ 5 สาขาสำคัญเพื่อพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจร่วมกัน ประกอบด้วย คือ สาขาการค้า สาขาการลงทุน สาขาการท่องเที่ยว สาขาโลจิสติกส์และสาขาอุตสาหกรรมเกษตรอาหารฮาลาล


พ.อ.เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ด้านของหน่วยความมั่นคงในพื้นที่ได้เตรียมพร้อมของมาตรการ ในการเฝ้าระวัง และป้องกันและดูแลตามตะเขบชายแดน รวมทั้งยังเน้นหนักจากผู้บังคับบัญชามาอย่างต่อเนื่องในการ บูรณาการตาม แผนขับเคลื่อนแผนบริหารจัดการชายแดนด้านความมั่นคง โดยมุ่งให้เกิดการบูรณาการ การดำเนินงานของหน่วยงานความมั่นคงอย่างมีเอกภาพ และประสิทธิภาพ มีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนในลักษณะประชารัฐ และส่งเสริมกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศในทุกระดับ

Related posts